กรุงเทพฯ--3 ส.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ
กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สนับสนุนทุนวิจัยให้นักศึกษาระดับตรี โท เอก ร่วมคิด พัฒนา ค้นคว้า วิจัยด้านพลังงาน ประจำปี 58 จำนวน 148 โครงการ วงเงินรวม 13 ล้านบาท
ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานการคัดเลือกผู้มีสิทธิ์ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยให้นักศึกษา เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้ให้ความสำคัญในการศึกษา วิจัย และพัฒนางานด้านการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน จึงให้มีการสนับสนุนทุนจากเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน สำหรับการศึกษา วิจัยแก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชนเป็นประจำทุกปี และในปี 2558 สนพ. ได้ประกาศรับสมัครยื่นข้อเสนอโครงการเมื่อวันที่ 12 มกราคม – 31 มีนาคม 2558 ปรากฏว่ามีมหาวิทยาลัยในประเทศยื่นข้อเสนอโครงการมาขอรับทุนทั้งสิ้น 35 แห่ง จำนวน 230 โครงการ ทั้งนี้เป็นโครงการในด้านเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 94 โครงการ และโครงการด้านพลังงานทดแทน 136 โครงการ
การพิจารณาคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่ยื่นขอรับทุน ดำเนินการโดยคณะผู้เชี่ยวชาญในด้านการวิจัยพลังงานระดับประเทศ ที่คำนึงถึงหลักเกณฑ์และประโยชน์ที่จะได้รับจากผลการวิจัยเป็นสำคัญ ซึ่งจากผลการพิจารณาในที่ประชุมเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2558 มีโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจำนวนทั้งสิ้น 148 โครงการ เป็นโครงการในด้านอนุรักษ์พลังงาน 69 โครงการ เป็นระดับปริญญาเอก 8 โครงการ ปริญญาโท 20 โครงการ และระดับปริญญาตรี 41 โครงการ ในวงเงินรวม 5.2 ล้านบาท และเป็นโครงการในด้านพลังงานทดแทน จำนวน 79 โครงการเป็นระดับปริญญาเอก 11 โครงการ ปริญญาโท 21 โครงการ และปริญญาตรี 47 โครงการ ในวงเงินรวม 7 ล้านบาท
โครงการที่ผ่านการคัดเลือกในครั้งนี้ ได้มีหลายโครงการที่น่าสนใจ เช่น โครงการการควบคุมคงทนแบบวนซ้ำสององศาอิสระ สำหรับอินเวอร์เตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบกริด เสนอโดยนักศึกษาระดับปริญญาโทมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะศึกษาและออกแบบตัวควบคุมที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับอินเวอร์เตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบกริดหรือทำงานแบบแยกอิสระ เนื่องจากมีการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายเพื่อลดปัญหาพลังงานไฟฟ้าขาดแคลน หากใช้ตัวควบคุมที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้สามารถรักษาระดับแรงดันไฟฟ้าในระบบให้คงที่ ลดการสูญเสียพลังงานโดยสูญเปล่า รวมถึงสามารถนำตัวควบคุมดังกล่าวไปใช้กับอินเวอร์เตอร์เพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนพลังงานในอนาคต และอาจจะนำไปต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
ส่วนโครงการด้านพลังงานทดแทนมีหลายโครงการที่น่าสนใจเช่นกัน ได้แก่ โครงการการแปรสภาพน้ำตาลจากชีวมวลลิกโนเซลลูโลสให้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยลิกโนเซลลูโลสได้จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เสนอโดยนักศึกษาระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จะศึกษากระบวนการผลิตเชื้อเพลิงพลังงานสังเคราะห์จากน้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลฟรุกโตสด้วยการใช้ตัวเร่งปฏิกิริยา รวมถึงศึกษาสมรรถนะการนำไปใช้และการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของเชื้อเพลิง ทำให้ทราบถึงปัจจัยที่มีผลต่อการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ DMF (Dimethylfuran) และได้แนวทางในการพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงสังเคราะห์ DMF ให้มีประสิทธิภาพสูง ที่มีต้นทุนที่ต่ำเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอื่นๆ
"การสนับสนุนทุนวิจัยให้แก่นักศึกษา เป็นการเปิดโอกาสให้มีนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ และทำให้เกิดผลงานวิจัยด้านพลังงานเพื่อนำไปต่อยอดสู่แผนพัฒนาพลังงานระดับประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมให้นักศึกษาและสถาบันการศึกษา หันมาสนใจการวิจัย และพัฒนาการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนมากขึ้น เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อเป็นนักวิจัยด้านพลังงานของประเทศต่อไป" ศ.ดร.พรายพล กล่าวเพิ่มเติม.