กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
ละอ่อนเมืองน่านร่วมพลังสร้างสรรค์ 18 โครงการ สื่อ 3 ประเด็นหลักประกาศต่อผู้ใหญ่ เขย่าเมืองให้ “ตื่นตัว” ร่วมแรงร่วมใจปกป้องน่านจากภัยคุกคามภายนอก
เมื่อวันที่ 18-19 กรกฏาคม 2558 ที่ผ่านมา โครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน หนึ่งในจังหวัดภายใต้โครงการพัฒนาองค์กรระดับจังหวัดเพื่อสร้างพลเมืองเพื่อประเทศไทยที่น่าอยู่ ได้มีการจัดงานมหกรรมเยาวชน “พลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด” ครั้งที่ 1 ณ พิพิธภัณฑสถานเมืองน่าน ดำเนินงานโดยมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) เพื่อนำเสนอผลงานและการเรียนรู้ในโครงการเพื่อให้ผู้ใหญ่ได้เห็นพลังเยาวชนรุ่นใหม่ที่พร้อมจะลุกขึ้นมายืนเคียงบ่าเคียงไหล่ในการช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังถาโถมสู่เมืองน่านท่ามกลางกระแสโลกาภิวัฒน์ ในการเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและเมืองแห่งทรัพยากร โดยมีนพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน โรงพยาบาลน่าน พร้อมด้วยเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ปราชญ์ชุมชนเมืองน่านเข้าร่วมงานครั้งนี้ด้วย
นพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ที่ปรึกษาศูนย์ประสานงานประชาคมจังหวัดน่าน โรงพยาบาลน่าน ให้เกียรติเข้าร่วมงานและชื่นชมความสำเร็จของเยาวชน ได้กล่าวว่า "...ความสุขที่เยาวชนได้ลงพื้นที่ช่วยชุมชนนั้น อันที่หนึ่ง ได้ความรู้ สองได้แสวงหาความรู้ใหม่เพิ่ม อันที่สามเขาได้ความรู้จากประชาชน ชุมชน และที่สำคัญเขามีความสำเร็จเขามีความสุขกาย สบายใจ ว่าได้ทำสิ่งที่เกิดจากความเมตตา ความกรุณา ที่ได้ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน สิ่งสำคัญคือความสามารถในการทำงานเป็นทีมด้วยความรู้รักและสามัคคี แสดงให้เห็นว่าการทำงานนั้นทำให้เยาวชนได้องค์ความรู้ได้ทักษะส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่สำคัญที่สุดคือน้ำใจต่างหาก ที่เขาได้ฝึกน้ำใจของตนเองให้เป็นคนที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น หมายถึงชุมชนคือเขาได้อยู่กับประชาชนฐานรากหญ้าอย่างแนบแน่น สำหรับการพัฒนาต้องมีราก ตัวรากคือวัฒนธรรมอยากให้ลูกหลานทั้งหลายไปช่วยกันค้นหาคำว่าวัฒนธรรมแท้จริงคืออะไร มันประกอบด้วยอะไรบ้าง และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของเรามันคืออะไรต้องกลับไปหาคำนี้กันให้เห็นแก่นแท้ของมันแล้วเราจะเดินกันได้อย่างถูกทาง..."
พระครูสุจิณนันทกิจ (พระอาจารย์สมคิด จารณธัมโม) ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมการเรียนรู้ชุมชน (วัดโป่งคำ) กล่าวว่า "น่านมีต้นทุนทางสังคมหลายอย่างทั้งด้านประเพณีวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การแต่งกาย ภาษา ปราชญ์ชุมชน ฯลฯ และที่สำคัญคือฐานทุนของกลุ่มเยาวชน แต่วันนี้เยาวชนน่านถูกสังคมใหม่ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยี ความทันสมัยที่ดึงเยาวชนออกจากวิถีชีวิตแบบเดิม ในขณะที่น่านมีวิกฤติในเรื่องของสิ่งแวดล้อม การเสื่อมถอยของวัฒนธรรม หากเราสามารถดึงเยาวชนเหล่านี้กลับมาให้สำนึกรักบ้านเกิด สำนึกรักถิ่นฐานชุมชนของตนเองได้คิดว่ามันเป็นเรื่องที่สำคัญมากก็เลยเข้าร่วมกับมูลนิธิสยามกัมมาจล และสสส. ทำโครงการฯ นี้ และมองเห็นว่ากระบวนการต่างๆ ที่มูลนิธิสยามกัมมาจลได้เข้าไปเติมเต็มให้กับเยาวชน ส่งผลให้เยาวชนได้ปรับเปลี่ยน "วิธีคิด" ทำให้มีมุมมองใหม่ว่าปัญหาทุกปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มันไม่ได้เป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง คนในพื้นที่ พื้นถิ่นนี่จะต้องมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบเหมือนกัน... หลังทำโครงการนี้อาตมาได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของเยาวชนไม่ว่าจะเป็นสามเณร เช่นวิธีการเผยแพร่ธรรมะประยุกต์ของสามเณร ทำให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจในความหมายของคำว่าธรรมะมากขึ้นว่าคืออะไร หรือเยาวชนได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนเรื่องเกิดความสำนึกรักบ้านเกิด เช่น เยาวชนลูกหลานไทลื้อ ไม่ได้ทิ้งวัฒนธรรม การแต่งกาย เป็นจุดที่เยาวชนสนใจนำมาทำโครงการ เป็นต้น
หลังจบโครงการอาตมาจึงได้เปิดพื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมพลังสร้างสรรค์ละอ่อนน่าน ฮักบ้านเกิด วัตถุประสงค์หลัก ต้องการให้เด็กได้มีพื้นที่แสดงความสามารถของตนเองให้ผู้ใหญ่หรือคนในสังคมได้รับรู้ว่าเยาวชนน่าน ณ วันนี้ ได้รู้ตื่นแล้วนะ พร้อมที่จะเคียงบ่าเคียงไหล่ไปกับทุกภาคส่วนและก็ผู้ใหญ่ใจดีทั้งหลาย ประการที่สอง อยากจะให้เด็ก เยาวชน ได้มีส่วนร่วมในการที่จะมาสร้างมุมมองว่าน่านวันข้างหน้าควรจะเป็นแบบไหน ประการที่สาม ให้เด็กได้รับการสืบทอดในเรื่องขององค์ความรู้ ภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรมน่านจากผู้ใหญ่ และสุดท้ายพวกเขาจะได้เป็น "แกนนำ" ที่มีส่วนรับผิดชอบในของความเป็นสังคมน่าน เราจะได้เยาวชนน่านที่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้น่านของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้นในอนาคต.....”
นางปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลและสสส. ตระหนักว่าเยาวชนคือรากฐานที่สำคัญในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประเทศ และการพัฒนาเยาวชนให้มีจิตสำนึกความเป็นพลเมือง และมีทักษะชีวิตนั้น มูลนิธิและสสส.มีความเชื่อว่าเยาวชนจะเติบโตและมีคุณลักษณะดังกล่าวต้องผ่านกระบวนการการเรียนรู้จากการลงมือทำ ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสและเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้จากโจทย์จริงของชุมชน โครงการเพื่อชุมชน (Community Project) เป็นเครื่องมือและกระบวนการที่ทำให้เยาวชนรู้จักตนเอง รู้จักชุมชน สามารถเข้าใจบริบทและปัญหาของชุมชนและเชื่อมโยงได้ว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จนเกิดความรู้สึกรักบ้านเกิดและมีพลังอยากลุกขึ้นมาทำประโยชน์เพื่อชุมชน พร้อมกันนี้ได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 และสร้างลักษณะนิสัยที่ดีได้
สำหรับกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำและการเรียนรู้จากโจทย์จริงของชุมชน ผู้มีบทบาทสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และสนับสนุนเยาวชนในพื้นที่ คือพี่เลี้ยง หรือ โค้ช ที่ดี ที่มีบทบาทในการสร้างการเรียนรู้ยั่วให้คิด ยุให้ทำ และเปิดโอกาสให้เยาวชนได้พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง มูลนิธิสยามกัมมาจลจึงให้การสนับสนุนองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานพัฒนาในพื้นที่ระดับจังหวัด (Area Based) ที่มีความเหมาะสมในการเป็นกลไกทำบทบาท Coaching พัฒนาเยาวชน มี 4 พื้นที่เป้าหมาย ใน 4 ภูมิภาค ได้แก่ จ.สงขลา จ.น่าน จ.ศรีสะเกษ และ จ.สมุทรสงคราม ภารกิจที่จะทำร่วมกันต่อไปคือการเชื่อมองค์กรภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาเยาวชนให้มารวมกันเป็นเครือข่ายที่ใหญ่ขึ้น เพื่อให้การพัฒนาเยาวชนให้เป็น Active Citizen กระจายออกไปให้เต็มบ้านเมืองนั่นเอง ซึ่ง จ.น่านถือเป็นจังหวัดแรกที่เปิดเวทีการเรียนรู้ของเยาวชนต่อสาธารณะชน”
สำหรับโครงการในปีแรกเยาวชน 18 โครงการ ครอบคลุม ใน 9 อำเภอ เยาวชนได้นำเสนอใน 3 ประเด็นที่กำลังเป็นภัยคุกคามเมืองน่านได้แก่ด้านวัฒนธรรม ด้านทรัพยากรและด้านวิถีการพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากร
เสียงสะท้อนจากตัวแทนเยาวชนแกนนำ 18 โครงการ...
น.ส.ปาลิดา อินต๊ะแสน (ปิ่น) แกนนำเยาวชนโครงการเรียนรู้เครือญาติและการสืบเสาะเรื่องราวภาพแห่งอดีตถึงปัจจุบัน เผยว่า “การทำงานในโครงการทำให้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เช่นการทำผังเครือญาติ ทำให้เรารู้ว่าใครเป็นญาติใครทำให้ความสัมพันธ์ในหมู่บ้านดีขึ้น หรือเรื่องประวัติศาสตร์ของชุมชนต้องนำเสนอออกมาให้ถูกต้องเพราะไม่อย่างนั้นจะทำให้เกิดความเสียหายได้ ส่วนตัวเองได้ฝึกความอดทนที่ต้องสอนน้องๆ ให้เข้าใจในแต่ละเรื่อง และการตรงต่อเวลาด้วยค่ะ”
นางสาวจิรัชญา โลนันท์ (นิ) แกนนำเยาวชนโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนต้นน้ำบ้านหัวนา เผยว่า “เมื่อก่อนหนูไม่เคยช่วยงานในหมู่บ้านเลย แช่นการทำแนวกั้นไฟ การช่วยพัฒนาหมู่บ้าน เป็นต้น แต่พอเข้าโครงการแล้วทำให้หนูมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ มีจิตสาธารณะมากขึ้น เข้าไปช่วยงานหมู่บ้าน ช่วยสำรวจป่าทำให้เกิดความรักและหวงแหนป่าชุมชนของตนเองมากขึ้น และรู้คุณค่าว่าป่ามีค่ากับบ้านเราอย่างไร”
นางสาวธัญพิมล ใจปิง (นุ้ย) แกนนำเยาวชนโครงการอนุรักษ์พืชอาหารท้องถิ่นและปลูกผักอินทรีย์ลดรายจ่ายครัวเรือนบ้านห้วยหมี เผยว่า “เพราะเป็นเด็กบนดอย แต่ไม่รู้จักพืชอาหารจากป่าที่มีอยู่ในชุมชนว่ามีอะไรบ้าง รู้จักแต่ผักที่รถพุ่มพวงนำมาขายในชุมชน เช่น ผักคะน้า ผักกาด ต้นหอม ผักชี เป็นต้น แต่พอเข้าทำโครงการนี้ทำให้หนูได้ศึกษาข้อมูลของพืชอาหารที่อยู่ในป่าชุมชนทำให้หนูรู้จักผักบ้านตัวเองมากขึ้น เลยทำให้รู้สึกรักและหวงแหนป่าชุมชนมากขึ้นเลยค่ะว่ามีประโยชน์ต่อชุมชนทีเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญค่ะ”
ภายในงานเยาวชนได้แสดงศักยภาพผ่าน 1.เวทีเสวนาของเยาวชนแกนนำในประเด็นการเรียนรู้จากโครงการที่ตนเองทำใน 3 ประเด็น ได้แก่ 1. ด้านวัฒนธรรม ในหัวข้อ “ เสียบยอดใหม่ เข้าใจต๋อเก่า” 2. ด้านทรัพยากร ในหัวข้อ “คนใหญ่ฮัก ละอ่อนฮับ ร่วมมืออนุรักษ์ชุมชนยั่งยืน” และ 3ด้านวิถีการพึ่งตนเองบนฐานทรัพยากร ในหัวข้อ “พลิกฟื้นผืนดิน กิ๋นผักปื้นบ้าน กำกิ๋นปลอดภัย อยู่ได้ยืนยาว” 2.เวทีการพูดIgniteของเยาวชนแกนนำ ในการเล่าแรงบันดาลใจในการทำโครงการ การเรียนรู้ระหว่างทำโครงการและการเปลี่ยนในตนเอง และ 3.นิทรรศการการเรียนรู้ของเยาวชนจากการทำโครงการ มีภาคีเครือข่ายนักศึกษามหาวิทยาลัยจากโครงการปิดทองหลังพระ ร่วมจัดนิทรรศการในครั้งนี้ด้วย ตลอดทั้งสองวันได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรมประเพณีความเป็นน่าน การฟ้อนดาบฟ้อนเจิง การฟ้อนไทลื้อ การฟ้อนล่องน่าน การตีกลองสะบัดชัย จากเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการให้กับผู้เข้าร่วมงานได้ชื่นชมความสามารถอีกด้วย
ถึงแม้จะเป็นเพียงเริ่มต้นในปีแรก แต่ “ACTIVE CITIZEN ละอ่อนน่าน” ก็แสดงพลังให้ผู้ใหญ่ได้ประจักษ์ถึงความตั้งใจจริงที่จะมาร่วมขับเคลื่อนสังคมเมืองน่านให้น่าอยู่ต่อไป สมกับคำขวัญที่ว่า “แข่งเรือลือเลื่อง เมืองงาช้างดำ จิตรกรรมวัดภูมินทร์ แดนดินส้มสีทอง เรืองรองพระธาตุแช่แห้ง”
สมัครเข้าร่วมโครงการในปีที่ 2 ได้ที่www.scbfoundation.comหรือwww.facebook.com/ThailandActiveCitizen