กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--ทริสเรทติ้ง
ทริสเรทติ้งจัดอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาทของ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัดที่ระดับ "BBB+" พร้อมทั้งยืนยันอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของของบริษัทที่ระดับ "BBB+" โดยแนวโน้มยังคง "Stable" หรือ "คงที่" ทั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ไปชำระหนี้เงินกู้ยืม และ/หรือใช้ในการลงทุนและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท โดยอันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 3 ของประเทศ ตลอดจนสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งขึ้นหลัง จากที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ได้รับอันดับเครดิต "BBB+/Stable") ได้ทำการเพิ่มทุนเมื่อปีก่อน ทั้งนี้ บริษัทถือเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้กลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น โดยบริษัททำหน้าที่บริหารงานด้านการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ การประเมินอันดับเครดิตยังพิจารณาถึงการสนับสนุนที่บริษัทได้รับจากกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นทั้งในด้านผู้บริหาร ตราสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ และความช่วยเหลือทางด้านการเงิน อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงจากการทำกำไรที่อ่อนแอของบริษัท ตลอดจนการแข่งขันในอุตสาหกรรมสื่อสารแบบไร้สายที่รุนแรงขึ้น และการลงทุนขนาดใหญ่เพื่อขยายโครงข่ายทั่วประเทศ
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะทางการตลาดเอาไว้ได้และมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งจะยังคงสถานะความเป็นธุรกิจหลักของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นไม่เปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทในระยะเวลาอันใกล้นี้ค่อนข้างมีจำกัด แต่สามารถเกิดขึ้นได้หากสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทแข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ การเปลี่ยนแปลงใดใดที่จะเกิดกับอันดับเครดิตของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นจะส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทตามไปด้วย ความเสี่ยงที่บริษัทจะถูกปรับลดอันดับเครดิตจะเกิดขึ้นได้ในกรณีการทำกำไรของบริษัทยังคงอ่อนแออย่างต่อเนื่อง หรือบริษัทมีการลงทุนโดยการก่อหนี้เชิงรุก ความไม่แน่นอนในข้อพิพาททางกฎหมายต่าง ๆ ที่มีมาแต่อดีต เช่น ค่าแอสเสสชาร์จ (Access Charge) หรือ การประเมินภาษีสรรพสามิต และอื่น ๆ ยังคงมีอยู่ แต่ทั้งนี้ข้อพิพาททางกฎหมายดังกล่าวยังไม่มีผลสิ้นสุดในเร็ววันนี้ ความน่าจะเป็นที่จะเห็นผลสิ้นสุดทางกฎหมายของข้อพิพาทออกมาทางด้านลบในระยะอันใกล้นี้น่าจะยังมีไม่มาก อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตของบริษัทอาจจะถูกปรับลดลงหากผลทางกฎหมายส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ก่อตั้งในปี 2553 โดยมีบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นเป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นประกอบธุรกิจโทรคมนาคมแบบผสมผสานโดยให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband) โทรศัพท์เคลื่อนที่ และโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น รับผิดชอบหลักในส่วนของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ทซ์ (Megahertz--MHz) ภายใต้สัญญาธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งระยะเวลา 15 ปีกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) และให้บริการบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ทซ์ภายใต้ใบอนุญาต 15 ปีจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยดำเนินงานภายใต้สัญญาถึงปี 2568 และถึงปี 2570 ตามลำดับ สำหรับการให้บริการบนคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิร์ทซ์ ภายใต้สัญญาสัมปทานนั้นหมดอายุไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2556 บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูก ได้รับอนุญาตจาก กสทช. ให้เป็นผู้ดูแลการให้บริการ (Caretaker) ดังกล่าว
บริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลำดับที่ 3 ของประเทศ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 บริษัทมีลูกค้าทั้งสิ้นจำนวน 21.5 ล้านราย บริษัทสร้างรายได้จำนวน 74,158 ล้านบาทในปี 2557 และจำนวน 19,835 ล้านบาทในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 23% ของจำนวนลูกค้าทั้งหมดและ 18% ของรายได้จากการให้บริการในอุตสาหกรรมให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทเป็นผู้ให้บริการผ่านโครงข่ายโทรศัพท์ 3จี (3G) และ 4จี LTE (Long Term Evolution) เป็นรายแรกเมื่อปี 2554 และเมื่อปี 2556 ตามลำดับ บริษัทมีลูกค้าบนโครงข่าย 3จี และ 4จี ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 ประมาณ 20.7 ล้านราย หรือคิดเป็นประมาณ 25% ของจำนวนลูกค้าบนโครงข่าย 3จี และ 4จี ทั้งหมดในอุตสาหกรรม บริษัทมุ่งเน้นการขยายโครงข่ายบนคลื่นความถี่ 2100 เมกะเฮิร์ทซ์ทั่วประเทศโดยใช้เทคโนโลยี 4จี เพื่อเสริมสร้างความเป็นผู้นำในการให้บริการด้านข้อมูล
เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และสัดส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีต่อกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นแล้ว อันดับเครดิตของบริษัทจึงมีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นเป็นอย่างมาก บริษัทสร้างรายได้ในปี 2557 ในสัดส่วน 68% ของรายได้รวมของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น และสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในสัดส่วนประมาณ 39% ของ EBITDA รวมของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น นอกจากนี้ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นยังเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องอย่างเต็มที่ในการดำเนินงานของบริษัททั้งในเรื่องการแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารระดับสูง ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินในรูปแบบการเพิ่มทุนมูลค่ารวมประมาณ 85,000 ล้านบาทในช่วงปี 2554-2557 ความแข็งแกร่งทางธุรกิจของบริษัทได้รับแรงหนุนจากการใช้ตราสัญลักษณ์ของกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งบริษัทให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้ตราสัญลักษณ์ "true move H" นอกจากนี้ ร้านค้าและสาขาของบริษัททรูคอร์ปอเรชั่นยังได้รวมการให้บริการต่าง ๆ ของกลุ่มบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งรวมถึง "true online" (บริการโทรศัพท์พื้นฐานและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) และ "true visions" (บริการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก) ด้วย ทั้งนี้ ความช่วยเหลือจากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่บริษัทและเป็นปัจจัยบวกต่ออันดับเครดิตของบริษัท
รายได้ของอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ซึ่งไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (Interconnection Charge -- IC) เติบโต 1% ในปี 2557 และ 3.7% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2558 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้ที่เติบโตมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการให้บริการด้านข้อมูลจำนวน 27% ในขณะที่รายได้จากการให้บริการเสียงลดลง 14% คาดว่ารายได้ของทั้งอุตสาหกรรมจะเติบโตในระดับปานกลางในปี 2558 เนื่องจากอุปสงค์ในบริการด้านข้อมูลยังคงเติบโตดี สำหรับการประมูลใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นคาดว่าจะมีขึ้นในช่วงปลายปี 2558 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า
บริษัทมีรายได้บริการซึ่งไม่รวมค่า IC เติบโตในอัตรา 9%-14% ต่อปีในช่วงปี 2554 ถึงไตรมาสแรกของปี 2558 ซึ่งเติบโตดีกว่าอุตสาหกรรม โดยได้รับแรงหนุนจากบริการด้านข้อมูลที่เกิดจากการขยายโครงข่าย 3จี และ 4จี ของบริษัท ตลอดจนกระแสความนิยมในสังคมเครือข่ายที่ติดต่อสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต (Social Network) และราคาที่ลดลงของโทรศัพท์แบบ Smartphone ในช่วงปี 2558-2560 สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้จากการให้บริการของบริษัทจะเติบโตโดยเฉลี่ย 8% ต่อปี โดยการเติบโตที่แข็งแกร่งในบริการด้านข้อมูลจะสามารถชดเชยการลดลงของรายได้จากบริการด้านเสียงและจะช่วยรักษาการเติบโตของรายได้ให้แก่บริษัท บริษัทมีอัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ที่ปรับปรุงรายการเช่าดำเนินงานแล้วที่ 15.3% ในปี 2557 ปรับตัวดีขึ้นจาก 3.2% ในปี 2556 เนื่องจากรายได้ที่เติบโตของบริษัท ประกอบกับบริษัทมีต้นทุนจากส่วนแบ่งรายได้ (Regulatory Cost) ที่ลดลงหลังจากลูกค้าส่วนใหญ่ย้ายมาอยู่บนโครงข่าย 3จี และ 4จี ในช่วงปี 2558-2560 คาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ในระดับ 18% ซึ่งสะท้อนการประหยัดต้นทุนจากฐานลูกค้าบนโครงข่าย 3จี และ 4จี และความคาดหวังว่าค่าใช้จ่ายทางการตลาดของบริษัทจะอยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมยิ่งขึ้น
สถานะทางการเงินของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มทุนจากบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น โดยในเดือนกันยายน 2557 บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นได้รับเงินจำนวน 65,000 ล้านบาทจากการขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและ China Mobile International Holdings Ltd. (China Mobile) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นเชิงกลยุทธ์รายใหม่ที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีฐานลูกค้าใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งภายหลังจากการเพิ่มทุน สัดส่วนการถือหุ้นของบริษัททรู คอร์ปอเรชั่นโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) อยู่ที่ 51% ในขณะที่ China Mobile มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 18% บริษัททรู คอร์ปอเรชั่นได้เพิ่มทุนในบริษัทจำนวน 38,600 ล้านบาทในปี 2557 และบริษัทได้นำเงินไปชำระคืนหนี้ระยะยาวจำนวน 31,137.4 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาระผูกพันในระยะยาวของบริษัทที่มีกับกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Fund -- IFF) นั้นถูกพิจารณาให้เป็นภาระหนี้สิน อันเป็นผลให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทลดลงจากระดับ 70% ในปี 2556 มาอยู่ที่ 40.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558 คาดว่าบริษัทจะมีค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนในช่วงปี 2558-2560 โดยรวมประมาณ 50,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนดังกล่าวยังไม่รวมเงินลงทุนสำหรับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใหม่ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับการขยายโครงข่าย แต่ด้วยสถานะทางการเงินที่ปรับตัวดีขึ้นหลังการเพิ่มทุน บริษัทจึงยังสามารถก่อหนี้เพิ่มเพื่อรองรับการลงทุนในอนาคตได้อีก เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นแล้ว บริษัทมีแผนการจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นโดยจะเริ่มในปี 2559 ทั้งนี้ การพิจารณาอันดับเครดิตได้รวมค่าใช้จ่ายฝ่ายทุนที่วางแผนไว้และการจ่ายเงินปันผลในระดับที่คาดว่าจะทำให้อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนของบริษัทอยู่ในระดับไม่เกิน 50% เอาไว้ด้วยแล้ว ทั้งนี้ อัตราส่วนดังกล่าวน่าจะเพิ่มขึ้นหากการประมูลใบอนุญาตใหม่เกิดขึ้น
เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทมีความผันผวนในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากบริษัทมีค่าใช้จ่ายทางการตลาดและค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงข่ายที่สูง ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 2558-2560 จะอยู่ในช่วง 10,000-15,000 ล้านบาทต่อปี โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมจะอยู่ที่ระดับประมาณ 30%
บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TUC)
อันดับเครดิตองค์กร: BBB+
อันดับเครดิตตราสารหนี้:
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 7,500 ล้านบาท และหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติม BBB+
(Greenshoe) ในวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันในวงเงินไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ไถ่ถอนภายในปี 2561 BBB+
แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable