กรุงเทพฯ--4 ส.ค.--สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
คาดว่าจะเติบโตเฉลี่ย 4-5% ต่อปีในช่วง 5 ปีจากนี้ไปการเติบโตเกิดจากแรงหนุนในความต้องการผลิตภัณฑ์ไฮเทคภายในประเทศอาเซียนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปและความสามารถในการผลิตที่พัฒนาขึ้นของอาเซียนน่าจะส่งผลให้การส่งออกของอาเซียนเติบโตขึ้น
การค้าระหว่างสหภาพยุโรปหรืออียู และอาเซียนจากนี้ต่อไปอีก 5 ปี คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 4-5% ต่อปี สำนักวิจัยกลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเชื่อว่า แม้ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การค้าระหว่างสองภูมิภาคนี้จะซบเซาลงไปบ้าง แต่ผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ค่อยๆ ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในยุโรป น่าจะส่งผลให้การค้าระหว่างอียูกับอาเซียนเติบโตตามไปด้วย
ตลอดช่วงเศรษฐกิจภาวะถดถอยทั่วโลก ระหว่างปี 2551-2557 ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างอียู กับอาเซียน เรียกได้ว่า ยังแข็งแกร่งอยู่ โดยอัตราการส่งออกของอียูมายังอาเซียนเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี 3.9% ขณะที่การนำเข้าจากอาเซียนขยายตัว 2.2% ซึ่งเมื่อเทียบกับตัวเลขการส่งออกทั่วโลกในช่วงเดียวกันเติบโตที่ 2.7% และนำเข้าลดลง0.7% ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้การค้าระหว่างอียูกับอาเซียนขยายตัวมาจากสินค้าอุตสากรรมของทั้งสองฝ่าย
สำหรับแนวโน้มในอนาคต สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดพยากรณ์ว่า จีดีพีของอียูจะเติบโตที่ 1.5% ในปี 2558 และ 2.1%ในปี 2559 แม้ความต้องการภายในประเทศของอียูจะยังคงอยู่ในระดับต่ำราว 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงที่เคยสูงสุดในปี2551 แต่คาดว่าในช่วง 3 ปีจากนี้ ความต้องการภายในประเทศจะขยายตัวขึ้นรวดเร็วกว่าการเติบโตของจีดีพี ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนที่กระเตื้องขึ้นและการบริโภคที่เติบโตขึ้น ส่วนในภูมิภาคอาเซียน สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดการณ์ว่า จะมีการเติบโตคงที่ตั้งแต่นี้ไปจนถึงปี 2563
ทั้งนี้ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่า การส่งออกของอียูมายังอาเซียน จะเติบโตเร็วกว่าการนำเข้าจากอาเซียน ซึ่งจะส่งผลให้ภาวะขาดดุลการค้าของอียูลดลงหรืออาจมีโอกาสเกินดุลการค้าบ้างเล็กน้อย โดยคาดว่า นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางยุโรปในช่วง 5 ปีจากนี้ที่สนับสนุนการส่งออก ประกอบกับการปรับโครงสร้างที่กำลังดำเนินการอยู่จะหนุนให้เศรษฐกิจยุโรปสามารถแข่งขันได้มากขึ้น ในส่วนของภูมิภาคอาเซียน คาดว่า ความต้องการภายในประเทศยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการขยายตัวของชนชั้นกลางภายในภูมิภาค สำหรับค่าเงินยูโรที่ลดลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินของทุกประเทศในอาเซียนเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เกื้อหนุนการส่งออกจากยุโรปมายังอาเซียน
ประเภทของสินค้านำเข้าและส่งออกระหว่างอียูและอาเซียนค่อนข้างคล้ายคลึงกัน ราว 60-70% เป็นสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เคมีภัณฑ์ (ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทยา) โดยอียูส่งออกมายังอาเซียนราว 14% ที่ และนำเข้าจากอาเซียนราว 9% และสินค้าที่เกี่ยวกับอาหารทั้งนำเข้าและส่งออกระหว่างทั้งสองภูมิภาคราว 8% อย่างไรก็ตาม อียูนำเข้าวัตถุดิบจากอาเซียนราว 8% ของยอดนำเข้าโดยรวม ส่วนการส่งออกวัตถุดิบจากอียูมายังอาเซียนน้อยมากจากไม่มีนัยสำคัญ
เมื่อพิจารณาในรายละเอียด องค์ประกอบของสินค้าแตกต่างกันไปตามข้อได้เปรียบในการแข่งขันของแต่ละประเทศ เช่น ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่อียูส่งออกมายังอาเซียนประกอบด้วยสินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น รถยนต์ เครื่องบิน อุปกรณ์ทางการแพทย์ อุปกรณ์เกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซ ส่วนสินค้าที่อียูนำเข้าจากอาเซียนประกอบด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นไมโครชิป คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ อียูยังนำเข้าสินค้าเครื่องนุ่งห่มจำนวนมากจากอาเซียน ส่วนใหญ่จากเวียดนาม รูปแบบทางการค้าระหว่างอาเซียนกับอียู ส่วนใหญ่จะเป็นการค้ากับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่เช่น เยอรมนี สหราชอาณาจักรและอิตาลี ตลอดจนเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของการขนส่ง
จากองค์ประกอบสินค้าที่คละกันหลากหลายประเภทในการค้าระหว่างอียูและอาเซียน สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมองว่า แนวโน้มการค้าจะเน้นด้านเทคโนโลยี และเป็นการค้าในสินค้าไฮเทค โดยสองหมวดหลักๆ ที่น่าจับตาคือผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การขนส่ง
สำหรับผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบัน อียูนำเข้ามากกว่าส่งออก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อได้เปรียบด้านต้นทุนของอาเซียน และตอบสนองความต้องการของอียูสำหรับสินค้าขั้นกลาง (intermediate goods) และเป็นสินค้าที่ไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีมากนักในกระบวนการผลิต
ในช่วง 5 ปีจากนี้ไป สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดว่า อียูจะส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มายังอาเซียนมากขึ้น โดยอัตราการส่งออกจะขยายตัวเร็วกว่านำเข้าเล็กน้อย ทั้งนี้เพราะความต้องการภายในประเทศที่แข็งแกร่งและความมั่งคั่งของภูมิภาคจะส่งผลให้เกิดความต้องการสินค้าไฮเทคมากขึ้น นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงความต้องการในสินค้าประเภทอื่นด้วย เช่น อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรกลสำหรับโรงงาน และสินค้าคุณภาพสูงอื่นๆ สำหรับผู้บริโภค
ขณะเดียวกัน แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของอียู ก็น่าจะส่งให้ความต้องการผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากอาเซียนไปยังอียูเพิ่มขึ้นด้วย โดยอาเซียนมีโอกาสพัฒนาความสามารถในการผลิตเพิ่มขึ้นจากข้อได้เปรียบในแง่ต้นทุนและกระแสความสนใจลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้าไปจากทั่วโลก ในระยะกลาง เมียนมาร์และกัมพูชามีโอกาสที่จะก้าวทันเวียดนามที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมต่อปี 110% ในการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังอียู ซึ่งเป็นผลมาจากฐานเดิมที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
สำหรับข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-สหภาพยุโรปซึ่งเริ่มกันมาตั้งแต่ปี 2550 แต่ชะงักงันไป อียูจึงหันไปเจรจาการค้าแบบทวิภาคีกับแต่ละประเทศแทน ขณะที่อียูประกาศว่าเจตนารมณ์ว่าต้องการข้อตกลงการค้าในระดับภูมิภาคแต่ใช้การเจรจาแบบทวิภาคีเป็นก้าวนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว การเจรจากับสิงคโปร์และมาเลซียเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีแผนที่จะเจรจากันในรอบต่อไป ความตกลงการค้าเสรีเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่หากสำเร็จก็ย่อมส่งผลกระตุ้นให้เกิดการค้าแบบทวิภาคีได้อย่างมาก โดยเฉพาะการค้าด้านบริการซึ่งยังฐานเดิมยังอยู่ในระดับต่ำ