คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ซึ่งประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 5, 2015 10:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กกร. ประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจเดือนมิถุนายน พบว่าภาพเศรษฐกิจยังคงได้แรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เติบโตถึงร้อยละ 53.1 จากนักท่องเที่ยวในเอเซียเป็นหลักและการเร่งตัวของการเบิกจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีการเบิกจ่ายเร่งขึ้นต่อเนื่อง ส่วนการใช้จ่ายภาคเอกชนเริ่มมีสัญญานดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำ จากความต้องการใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าไม่คงทนที่ขยายตัว แม้การบริโภคสินค้าคงทนยังลดลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากราคาผลผลิตและสถานการณ์ภัยแล้งและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชน ส่วนใหญ่เป็นไปในลักษณะซ่อมแซมและปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ในขณะที่เม็ดเงินลงทุนโครงการใหม่ยังมีน้อย สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ลดลง 6 เดือนติดต่อกัน นอกจากนี้ กกร. ได้แสดงความกังวลถึงสถานการณ์ส่งออกในเดือนมิถุนายนที่หดตัวถึงร้อยละ 7.9 ซึ่งหดตัวมากขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ทำให้ช่วงครึ่งปีแรก มูลค่าส่งออกหดตัวไปถึงร้อยละ 4.8 ทำให้มีโอกาสที่การส่งออกทั้งปีจะหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่สามติดต่อกัน แม้ในขณะนี้ได้รับปัจจัยหนุนจากค่าเงินบาทมีทิศทางอ่อนลงก็ตาม อย่างไรก็ดี การหดตัวของมูลค่าส่งออกไทยหดตัวเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับประเทศผู้ส่งออกอื่นในภูมิภาค ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและอาเซียน ซึ่งยังเป็นปัจจัยท้าทายที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะต่อไป ทั้งนี้ กกร. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปยังคงต้องการแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อบรรเทาผลกระทบจากภาคส่งออกที่มีสัญญาณอ่อนแอมากกว่าคาด กกร. หารือประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้าที่ต้องการให้ภาครัฐผลักดันเพื่อเร่งรัดการส่งออก ตามที่ริเริ่มโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ใน 12 กลุ่มสินค้า ประกอบด้วย (1.)กลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ (2.)กลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ (3.)กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร (4.)กลุ่มตลาด CLMV (5.)กลุ่มไลฟ์สไตล์ (6.)กลุ่มสิ่งทอและเครื่องหนัง (7.)กลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (8.)กลุ่มวัสดุและบริการก่อสร้าง (9.)กลุ่มโลจิสติกส์ (10.)กลุ่มสุขภาพและความงาม (11.)กลุ่มดิจิตอลคอนเทนต์และการพิมพ์ (12.)กลุ่มสินค้าฮาลาล ประเด็นปัญหาอุปสรรคทางการค้า ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวกับ Ease ofDoing ในส่วนของประเทศไทยซึ่งต้องมีการเร่งรัดดำเนินการ เช่น มาตรการยกเว้นภาษี VAT การนำเข้าวัตถุดิบ และ การยกเว้นการจัดเก็บภาษีรายได้ส่งกลับของผู้ประกอบการที่มีการลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งการยกเลิกการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องปรับอากาศชนิดที่ใช้ตามบ้านเรือนขนาดไม่เกิน 72,000 บีทียู (ซึ่งปัจจุบันได้รับการยกเว้นภาษีสรรพสามิต)เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย (เนื่องจากสินค้ารายการนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้กับภาครัฐ แต่เป็นภาระด้านรายงานและเอกสารของภาครัฐและภาคเอกชนเกินความจำเป็น) การแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้เป็นผล ต้องมีการดำเนินการโดยหลายกระทรวง กกร. เสนอให้มีการรื้อฟื้น คณะกรรมการพัฒนาการส่งออก เป็นกลไกหลัก แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ การขยายอายุบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card :ABTC) จาก 3 ปี เป็น 5 ปี สำหรับนักธุรกิจไทย ที่ยื่นสมัครตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558 เป็นต้นไป โดยบัตร ABTC จะได้รับอนุมัติวีซ่าประเภทนักธุรกิจ เข้า-ออกได้หลายครั้ง และมีระยะพำนักครั้งละ 60-90 วัน เพื่ออำนวยควาสะดวกแก่นักธุรกิจในการเดินทางเข้าประเทศภาคี จำนวน 19 เศรษฐกิจ ได้แก่ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญุ่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ เปรู ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี สิงคโปร์ ไทย ไต้หวัน เวียดนาม เม็กซิโก และรัสเซีย ส่วนสหรัฐอเมริกา และ แคนาดา ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการอย่างสมบูรณ์ บัตร ABTC มีประโยชน์ ต่อนักธุรกิจที่เดินทางและทำธุรกิจการค้า การลงทุน ในภูมิภาคเอเปค ซึ่งเป็นการลดระยะเวลาการตรวจคนเข้าเมือง ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า (ของบางประเทศ เช่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน) ตลอดจนได้รับอนุญาตระยะเวลาการพำพักแต่ละครั้งนานถึง 60-90 วัน กกร. จะเริ่มให้บริการการยื่นขอบัตร ATBC ผ่านระบบ online ตั้งแต่ต้นปี 2559 เป็นต้นไป เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาชิกของภาคเอกชนทั้ง 3 สถาบัน นอกจากนี้ กกร. สนับสนุนการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-ตุรกี และไทย-ปากีสถาน ซึ่งมีเป้าหมายการเจรจา FTA ไทย-ตุรกี ให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2559 และ การเจรจา FTA ไทย-ปากีสถาน มีเป้าหมายให้แล้วเสร็จภายในกลางปี 2560 เพื่อเพิ่มโอกาสการส่งออกของไทยไปยังตลาดตุรกี (ซึ่งมีประชากร 80 ล้านคน และเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง) และตลาดปากีสถาน (ซึ่งมีประชากร 200 ล้านคน และมีประชากรที่มีกำลังซื้อสูงถึงประมาณ 30 ล้านคน) กกร. คาดว่า สภาธุรกิจ ไทย-ตุรกี และ สภาธุรกิจ ไทย-ปากีสถาน จะมีบทบาทสำคัญในฐานะเป็นเวทีความร่วมมือของภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ระหว่างประเทศไทยกับสองประเทศดังกล่าว ตลอดจน สนับสนุนการเจรจาความตกลง FTA ไทย-ตุรกี และ ไทย-ปากีสถาน ให้บรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ กกร. สนับสนุนการยกระดับการค้าชายแดน และส่งเสริมการนำเงินสกุลท้องถิ่นใช้ในกิจกรรมการค้าและการลงทุนชายแดน จึงเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจชายแดน ไทย-เมียนมา ครั้งที่ 2 ขึ้น เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2558 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นควรนำเสนอประเด็นสำคัญๆต่อภาครัฐ ได้แก่ (1) การเปิดเส้นทางการบินระหว่าง ย่างกุ้ง-แม่สอด เนื่องจากเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้น จากการยกเว้นวีซ่าให้ผู้โดยสารทางเครื่องบินของผู้ถือหนังสือเดินทางบุคคลธรรมดาของไทยและเมียนมา; (2) การเร่งรัดการเจรจาระหว่าง ธปท. และธนาคารกลางของเมียนมาเพื่อมีระบบการแลกเงินบาท-เงินจ๊าด ได้โดยตรง; (3) การเร่งรัดก่อสร้างสะพานมิตรภาพ แม่น้ำเมยแห่งที่ 2 ; และ (4) การเร่งรัดรัฐบาลทั้งสองประเทศ เจรจา เพื่อให้เปิดรถขนส่งและรถโดยสาร ภายใต้ความตกลง MOU on the Initial Implementation of GMS CBTA ที่ แม่สอด-เมียวดี และ แม่สาย-ท่าขี้เหล็ก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ