กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--ท่าอากาศยานไทย
ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)จัดฝึกซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติงานในสภาวะทัศนวิสัยต่ำ (Low Visibility Procedures : LVP) ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อให้การปฏิบัติงานเมื่อเกิดสภาวะทัศนวิสัยต่ำ (Low Visibility Condition : LVC) เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัย
นายศักดิ์ชัย อรุณรักถาวร รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานดอนเมือง (สายปฏิบัติการและบำรุงรักษา) ทอท.กล่าวว่า ทดม.ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักแห่งที่ 2 ของกรุงเทพมหานครมีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมากรองลงมาจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดย ทอท.มุ่งเน้นในการดำเนินงานท่าอากาศยานให้มีความปลอดภัยทางการบินตามข้อกำหนดกฎเกณฑ์ของรัฐ โดยในส่วนของ LVP มีกำหนดรายละเอียดการปฏิบัติอยู่ในคู่มือการดำเนินงานสนามบิน ซึ่งจัดทำขึ้นตามข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือนฉบับที่ 81 และระเบียบกรมการบินพลเรือนว่าด้วยมาตรฐานของระเบียบเกี่ยวกับกระบวนการ ดำเนินงานสนามบิน ปี พ.ศ.2557 ดังนั้นเพื่อทดสอบประสิทธิภาพและความเหมาะสมของขั้นตอนฯ รวมทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว และสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ
ท่าอากาศยาน ทดม.จึงได้จัดการฝึกซ้อมขั้นตอนการปฏิบัติงานในสภาวะทัศนวิสัยต่ำ และได้เชิญหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด กรมอุตุนิยมวิทยา สายการบินและหน่วยงานต่างๆเข้าร่วมการฝึกซ้อม นายศักดิ์ชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การฝึกซ้อมครั้งนี้ได้จำลองสถานการณ์เริ่มตั้งแต่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ตรวจสภาพอากาศและพบทัศนวิสัยบนทางวิ่ง (Runway Visual Range) เริ่มต่ำกว่า 800 เมตร จึงได้แจ้งหอบังคับการบินและหน่วยงานที่ปฏิบัติงานในเขตการบินทราบ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะเปิดไฟ LVP สีส้ม เพื่อแจ้งเตือนสภาวะทัศนวิสัยต่ำให้กับบุคคลหรือยานพาหนะที่จะเข้าไปในเขตการบิน เฝ้าระวังแนวรั้วเขตการบิน เตรียมความพร้อมระมัดระวังความปลอดภัยแก่อากาศยาน ยานพาหนะ และจัดเก็บอุปกรณ์ให้บริการภาคพื้น และเมื่อได้รับแจ้งจากกรมอุตุนิยมวิทยาหากทัศนวิสัยบนทางวิ่งเริ่มต่ำกว่า 550 เมตร เจ้าหน้าที่จะต้องควบคุมและจำกัดการอนุญาตให้ยานพาหนะข้ามทางวิ่งและทางขับให้เหลือน้อยที่สุด สำหรับสายการบินและผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน (Standard Operating Procedures : SOPs) ในสภาวะทัศนวิสัยต่ำของหน่วยงานตนเองอย่างเคร่งครัด จนกระทั่งได้รับแจ้งว่าสภาพอากาศเข้าสู่สภาวะปกติและแจ้งยกเลิกสถานการณ์ ทั้งนี้ การฝึกซ้อมดังกล่าวจึงเป็นการทดสอบความพร้อม ความเข้าใจ และทบทวนขั้นตอนการปฏิบัติ ความพร้อมของอุปกรณ์
บุคลากรทั้งในส่วนพนักงานของท่าอากาศยานและผู้ประกอบการที่ปฏิบัติงานภายในเขตการบินที่มีส่วนได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุทางการบินได้ ซึ่งการฝึกซ้อมเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการด้านนิรภัยของสนามบินที่เรียกว่าการส่งเสริมความปลอดภัย (Safety Promotion)