มติโลกเพื่อสัตว์ป่าครั้งประวัติศาสตร์

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday August 6, 2015 09:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--WWF-ประเทศไทย จากการเพิ่มขึ้นอย่างมากของอาชญากรรมสัตว์ป่า องค์การสหประชาชาติจึงมีมติครั้งประวัติศาสตร์ให้ทุกประเทศผนึกกำลังเพื่อยุติวิกฤติการลักลอบล่าสัตว์ป่าและจัดการแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย มติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ เรื่อง การแก้ปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ริเริ่มโดยกาบองและเยอรมนีได้รับการสนับสนุนจากกว่า70ประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เป็นผลจากความพยายามทางการทูตตลอดระยะเวลาสามปีและยังเป็นครั้งแรกที่ทุกชาติสมาชิกรับรู้และตระหนักถึงความร้ายแรงของอาชญากรรมสัตว์ป่า และความจำเป็นเร่งด่วนในการรวบรวมสรรพกำลังเพื่อต่อสู้กับปัญหานี้ นายมาร์โค ลัมเบอร์ตินี ผู้อำนวยการ WWF International กล่าวว่า “มติของสหประชาชาติเป็นการเริ่มต้นช่วงเวลาใหม่แห่งการต่อสู้กับอาชญากรรมสัตว์ป่า ซึ่งได้พัฒนาไปเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงไม่เพียงแค่ต่อสายพันธุ์ต่างๆ จำนวนนับไม่ถ้วนเพียงเท่านั้น แต่รวมถึงความมั่นคงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของชาติ มติครั้งประวัติศาสตร์นี้พิสูจน์ให้เห็นว่าการยุติอาชญากรรมสัตว์ป่าไม่ได้เป็นเพียงแค่ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอีกต่อไป และไม่ได้เป็นเรื่องของบางกลุ่มประเทศเท่านั้น แต่การยุติอาชญากรรมสัตว์ป่าเป็นภารกิจสำคัญสำหรับทุกประเทศ” จำนวนประชากรช้างที่ลดลงอย่างมากในโมซัมบิกและแทนซาเนีย เช่นเดียวกับจำนวนแรดที่ถูกฆ่าตายในแอฟริกาใต้ที่มากเป็นประวัติการณ์นั้น แสดงให้เห็นว่าวิกฤตการณ์ลักลอบล่าสัตว์ป่าได้บ่อนทำลายความพยายามของนานาประเทศในการอนุรักษ์สัตว์ป่า แต่มติของสหประชาชาติในครั้งนี้นับเป็นการป่าวประกาศถึงผลกระทบของอาชญากรรมสัตว์ป่าที่มีมากกว่านั้น กล่าวคือ การบ่อนทำลายระบบธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท้องถิ่น และยังเป็นแหล่งเงินสนับสนุนเครือข่ายอาชญากรรมและความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธอีกด้วย นางสาวเยาวลักษณ์ เธียรเชาว์ ผู้อำนวยการกองทุนสัตว์ป่าโลก สำนักงานประเทศไทย (WWF-ประเทศไทย) กล่าวว่า “ขณะที่พยายามแก้ปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายภายในประเทศโดยการผ่านกฎหมายเพื่อควบคุมการค้างาช้างบ้านเป็นฉบับแรกและกำหนดให้ช้างแอฟริกาเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองภายใต้กฎหมายไทย รัฐบาลไทยได้ร่วมกับประชาคมโลกแสดงเจตนารมณ์ต่อต้านการค้าสัตว์ป่า” นางสาวเยาวลักษณ์ กล่าวอีกว่า “ความพยายามต่างๆ ในการแก้ปัญหาการค้างาช้างผิดกฎหมายยังคงต้องทำต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย ปราบปรามผู้ลักลอบค้างาช้าง รวมถึงการลดความต้องการสินค้าจากงาช้าง อย่างไรก็ดีการร่วมลงมติในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของประเทศไทยในการปราบปรามอาชญากรรมสัตว์ป่า” ด้วยตระหนักดีว่าการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์นี้จะสำเร็จได้ด้วยแนวทางเชิงบูรณาการเท่านั้น สมาชิกสหประชาชาติทั้ง193ประเทศจึงเห็นชอบที่จะยกระดับความร่วมมือในระดับภูมิภาคและนานาประเทศในการปราบปรามกระบวนการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย ซึ่งรวมถึงการออกมาตรการเพื่อยุติการลักลอบล่า ค้าและซื้อสัตว์ป่า นอกจากการเพิ่มความเข้มแข็งของกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายแล้ว มติในครั้งนี้สนับสนุนให้ประเทศต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมในเชิงรุกกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อต่อสู้กับการลักลอบค้าสัตว์ป่าด้วยการให้สิทธิ์และเพิ่มความศักยภาพในการจัดการและบริหารผลประโยชน์จากทรัพยากรสัตว์ป่าให้แก่ชุมชนท้องถิ่นมากขึ้น ความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำและผลตอบแทนสูงเป็นแรงจูงใจให้เครือข่ายองค์กรอาชญากรรมต่างๆ แสวงหาหนทางในการก้าวเข้าสู่ขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย และพัฒนาวิธีลักลอบล่าและเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความรุนแรงและการทุจริตที่รุนแรงมากขึ้น มติของสหประชาชาติเพื่อตอบโต้กับการกระทำความผิดดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติของการก่ออาชญากรรมข้ามชาติที่กระทำกันเป็นกระบวนการซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และในขณะเดียวกันก็เน้นย้ำความจำเป็นของชาติต่างๆ ในการจัดการกับปัญหาการทุจริตและการฟอกเงินที่มีความเชื่อมโยงกับอาชญากรรมสัตว์ป่า นางอลิซาเบธ แม็คเลลัน หัวหน้าฝ่ายต่อต้านอาชญากรรมสัตว์ป่าของ WWF International กล่าวว่า “หากประเทศต่างๆ บังคับใช้มติดังกล่าวอย่างเต็มที่จะทำให้อาชญากรรมสัตว์ป่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นและได้ผลประโยชน์ลดน้อยลง อีกทั้งกลไกการรายงานผลที่เข้มงวดอันเป็นผลจากมติครั้งนี้จะสามารถทำให้เกิดความคืบหน้าได้อย่างแท้จริงและเป็นการอุดช่องโหว่ที่สำคัญต่างๆ” นับตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เป็นต้นไป เลขาธิการสหประชาชาติได้รับมอบหมายให้นำเสนอรายงานการประชุมประจำปีในประเด็นอาชญากรรมสัตว์ป่าในระดับโลกและการบังคับใช้มติของสหประชาชาติของประเทศต่างๆ รวมไปถึงคำแนะนำสำหรับมาตรการในอนาคต นอกจากนี้ในปีหน้าจะมีการพิจารณาแต่งตั้งผู้แทนพิเศษด้านอาชญากรรมสัตว์ป่า ซึ่ง WWF เชื่อว่าจะสามารถสร้างความตระหนักรู้และทำให้ประเทศต่างๆ หันมาใส่ใจปัญหาดังกล่าว นายมาร์โค กล่าวอีกว่า “หลายปีมานี้ WWF ได้มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนทั่วโลกต่อการก่ออาชญากรรมต่อสัตว์ป่า โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบของการกระทำดังกล่าวต่อชุมชน และต่อจำนวนประชากรสัตว์ป่าที่ลดลง อาทิ ช้าง แรด และเสือ ซึ่ง WWF ยังคงความสำคัญในการช่วยเหลือประเทศต่างๆ ในการบังคับใช้มติสหประชาชาตินี้และยุติอาชญากรรมสัตว์ป่าซึ่งเป็นหายนะของโลกให้หมดสิ้นไป”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ