กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สถานีโทรทัศน์ช่อง8
สืบเนื่องจากกรณีมีนักท่องเที่ยวโดนพิษแมงกะพรุนกล่องที่หาดริ้น เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี จนเป็นผลให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในเวลาต่อมา ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาเผยถึงความร้ายแรงของแมงกะพรุนกล่อง พร้อมทั้งการป้องกันและวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อโดนแมงกะพรุนกล่องในรายการ ปากโป้ง ที่มี หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย พร้อมด้วย เข็ม-ลภัสรดา ช่วยเกื้อ ถึงเรื่องนี้ว่า
“แมงกะพรุนทั่วไปแล้วในโลกนี้มีเป็นพันชนิด แมงกะพรุนความจริงแล้วเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์และก็มีหลายขนาดมากตั้งแต่เล็กจิ๋วไปจนถึงตัวใหญ่เป็นวา ซึ่งในแต่ละชนิดก็แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับแมงกะพรุนที่มีพิษนั้นความจริงแล้วก็มีไม่ค่อยกี่ชนิดมาก แต่ที่เป็นข่าวตอนนี้ก็คงจะเป็นแมงกะพรุนกล่องที่เรียกแบบนี้ก็เพราะว่ารูปร่างหัวมันจะเหมือนกับกล่องส่วนหัวประมาณกำปั้นมือและมีหางยาวประมาณ2-3เมตร สำหรับแมงกะพรุนกล่องนั้นเมื่อก่อนจะมีค่อนข้างที่จะเยอะมากที่ประเทศออสเตรเลีย แต่มาช่วงหลังก็เริ่มที่จะแพร่เข้ามาสู่ประเทศไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามันมากขึ้น ปกติแมงกะพรุนกล่องจะไม่อยู่ในน้ำลึกแต่จะชอบอยู่ตามชายฝั่งซึ่งที่ต่างประเทศก็จะเจอตามชายฝั่งเหมือนกันและที่สำคัญจะมีมากในช่วงฤดูฝนช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมแมงกะพรุนจะเยอะมาก”
“สำหรับความร้ายแรงของพิษแมงกะพรุนกล่องนั้น 1 ตัวสามารถทำให้คนเสียชีวิตได้ถึง 50 คนถือว่าเป็นแมงกะพรุนที่มีพิษรุนแรงมาก สำหรับพิษของแมงกะพรุนกล่องจะอยู่บริเวณหางซึ่งจะเป็นเหมือนกับเซลล์พิษเป็นหมื่นเซลล์เมื่อเวลาที่คนไปโดนก็จะปล่อยเข็มพิษทันที ลักษณะของอาการคนที่โดนพิษนั้นจะปวดแสบปวดร้อนบริเวณแผล เมื่อโดนแล้วพิษจะเข้าสู่กระแสเลือดจะทำให้เกิดอาการหายใจไม่ออก ซึ่งพิษจะออกฤทธิ์ประมาณ 10 นาทีซึ่งถ้าผู้ที่โดนสามารถทนพิษได้ก็จะรอดชีวิตได้”
ดร.ธรณ์ กล่าวต่อว่า “มีคนถามผมเยอะเหมือนกันว่าในการโดนพิษของแมงกะพรุนกล่องขนาดไหนถึงจะทำให้สามารถเสียงชีวิตได้นั้นซึ่งที่ผ่านพบว่าในการจะเสียชีวิตของการโดนแมงกะพรุนนั้นจะต้องโดนครึ่งหนึ่งของร่างกายเพราะจะไม่สามารถทนพิษได้ แต่ก็มีหลายเคสที่โดนไม่เยอะก็สามารถที่จะรอดชีวิตได้ ส่วนเรื่องที่มีคนบอกว่าไม่ควรลงเล่นน้ำในตอนกลางคืนนั้นความจริงแล้วไม่เกี่ยวไม่ว่าจะลงเล่นตอนไหนก็สามารถที่จะเจอแมงกะพรุนได้ตลอด โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนนั้นอาจจะเจอได้เยอะมาก ดังนั้นเวลาที่ลงไปเล่นน้ำแล้วโดนพิษของแมงกะพรุนอย่างแรกเลยจะต้องมีสติที่ดีอย่าเอามือไปปัดเพราะยิ่งปัดก็จะโดนพิษมากขึ้น ควรถอยห่างออกจากแมงกะพรุนทันที จากนั้นก็ควรชูแขนขึ้นและรีบขึ้นจากน้ำทันที”
“การปฐมพยาบาลเบื้องต้นของคนที่โดนพิษของแมงกะพรุนนั้นควรเอาน้ำทะเลราดเพื่อให้เข็มเซลล์พิษออกจากร่างกาย ไม่ควรที่จะเอาน้ำจืดหรือว่าแอลกอฮอล์มาราดเพราะเซลล์ของแมงกะพรุนไม่เคยโดนน้ำประเภทนี้ถ้าโดนน้ำจืดหรือว่าแอลกอฮอล์ก็จะทำให้หนักขึ้น ควรใช้น้ำทะเลในการล้างพิษเพียงอย่างเดียว ส่วนเรื่องที่มีควรบอกว่าใช้น้ำส้มสายชูนั้นความจริงแล้วในต่างประเทศเค้าก็นิยมใช้กันโดยเฉพาะในประเทศออสเตรเลีย แต่ผลของการวิจัยก็ยังไม่ยืนยันว่าจะได้ผลแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือในประเทศอังกฤษก็จะใช้ครีมโกนนวดฉีด แต่ความจริงแล้วไม่ว่าจะใช้อะไรสำหรับผมแล้วน้ำทะเลดีที่สุดเพราะเซลล์พิษจะหลุดได้ง่าย”
ดร.ธรณ์ กล่าวเพิ่มว่า “สำหรับแมงกะพรุนไม่ว่าจะชนิดไหนในช่วงฤดูฝนค่อนข้างที่จะเยอะมาก ดังนั้นคนที่ไปเที่ยวทะเลในช่วงฤดูฝนก็ควรที่จะดูแลตัวเอง ไม่ควรที่จะลงเล่นน้ำในขณะฝนตกหรือไม่ควรลงไปเล่นในน้ำที่ดูแล้วไม่ปล่อยภัย ส่วนเรื่องของเสื้อผ้าความจริงแล้วปลอดภัยที่สุดก็ต้องเป็นชุดเหมือนกับนักดำน้ำ แต่ความจริงแล้วคนไปเที่ยวทะเลจะใส่แบบนั้นก็คงดูไม่เหมาะ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็ควรจะระวังตัวเองให้มากที่สุด หรือในกรณีฉุนเฉินก็สามารถโทรเรียกศูนย์เพื่อขอความช่วยเหลือได้ที่เบอร์ 1669”
ติดตามเรื่องราวความน่าสนใจและวิธีป้องกันภัยจากการโดนพิษแมงกะพรุนจาก ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ได้ในรายการ ปากโป้ง ในวันที่ 4 สิงหาคม 58 เวลา 10.00 น.ทางช่อง 8