กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๕ ส.ค. ๕๘) เวลา ๑๒.๐๐ น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สะพานขาว กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคง ของมนุษย์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางบูรณาการการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในภาพรวมของทั้งประเทศ ว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๔ ส.ค. ๒๕๕๘ ที่ทำเนียบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จัดหาที่อยู่อาศัยให้กับผู้ที่ไม่มีที่อยู่อาศัยจำนวนประมาณ ๔ ล้านครัวเรือน ทั่วประเทศนั้น ตนได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้แก่ การเคหะแห่งชาติ (กคช.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) พิจารณาแนวทางการบูรณาการการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยภาพรวมของทั้งประเทศให้มีแผนงาน เป้าหมาย และระยะเวลาที่ชัดเจนอย่างเร่งด่วน
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มีการรายงานข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบันของปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย จากข้อมูลด้านที่อยู่อาศัยภาพรวมของประเทศ และข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนปี ๒๕๕๖ สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ภาพรวมจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยมีประมาณ ๒๐,๑๑๔,๓๗๑ ครัวเรือน มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ๑๕,๔๖๙,๗๑๒ ครัวเรือนคิดเป็นร้อยละ ๗๖.๙๑ และยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัย ๔,๖๔๔,๖๕๙ ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๐๙โดยมีรายได้น้อยต่ำกว่า ๒๐,๗๐๐ บาทต่อเดือน/ต่อครัวเรือน จำนวน ๑๒,๐๕๗,๓๑๗ ครัวเรือน โดยแบ่งเป็นมีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยจำนวน ๙,๓๔๘,๐๒๐ ครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ ๗๗.๕๓ และไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยจำนวน ๒,๗๐๙,๒๙๗ ครัวเรือน คิดเป็น ๒๒.๔๗ และในจำนวน ๒,๗๐๙,๒๙๗ ครัวเรือนนี้ มีจำนวนประมาณ ๗๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน ที่กำลังประสบปัญหาด้านความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรเร่งแก้ไขปัญหาในกลุ่มที่มีรายได้น้อยต่ำกว่า ๒๐,๗๐๐ บาทต่อเดือน/ต่อครัวเรือน และไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยจำนวน ๒,๗๐๙,๒๙๗ ครัวเรือน เป็นลำดับแรก
"ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ที่มีรายได้น้อยและไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยให้เป็นปัจจุบัน เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนสำหรับการบริหารจัดการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยในภาพรวมของทั้งประเทศต่อไป อีกทั้งกำหนดแนวทางการดำเนินงานอย่างการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงแรงงาน เป็นต้น โดยเตรียมแต่งตั้งคณะทำงานเสนอนายกรัฐมนตรี คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสองสัปดาห์ หลังจากนั้นจะได้ดำเนินการขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่ต่อไป" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย