กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
วันนี้ (๕ ส.ค. ๕๘) เวลา ๑๓.๐๐ น. ที่โรงแรมปริ๊นซ์ พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ กรุงเทพฯ พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวมอบนโยบาย การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ในการอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นล่ามภาษาโรฮีนจา โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๔ – ๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ เพื่อพัฒนาทักษะในการเป็นล่าม เสริมสร้างจรรยาบรรณของล่าม ฝึกเทคนิคในการสื่อสาร รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาการค้ามนุษย์
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวว่า สถานการณ์การค้ามนุษย์ของประเทศไทยในปัจจุบันเป็นปัญหาที่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับการแก้ไข เนื่องจากในรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Person : TIP Report) ปี ๒๕๕๘ กระทรวงต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ยังคงจัดระดับความพยายามในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ให้อยู่ในกลุ่ม Tier ๓ ต่อเนื่องจาก ปี ๒๕๕๗ ถึงแม้ประเทศไทยได้มีความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ขับเคลื่อนและบูรณาการการดำเนินงาน โดยยึดหลักมาตรฐานสากล "5P" (Policy, Prevention, Prosecution, Protection, Partnership) ประสานความร่วมมือกับประเทศต้นทางและปลายทาง?เพื่อให้การป้องกันครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งรัฐบาลยังได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ จำนวน ๕ คณะ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ในแต่ละด้าน ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานอนุกรรมการด้านสตรีในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งในการประชุมอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการและมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ด้านสตรีและเด็ก โดยกำหนดยุทธศาสตร์ ๓ ด้าน ได้แก่ ๑)การป้องกัน ๒)การบังคับใช้กฎหมาย และ ๓)การคุ้มครองเยียวยาผู้เสียหาย และมีภารกิจ ๑๑ ประการ ที่ต้องดำเนินการ ซึ่งการเพิ่มจำนวนล่ามเป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ โดยเฉพาะล่ามในภาษาที่ยังขาดแคลน เช่น ภาษาโรฮีนจา เป็นต้น
พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวต่อไปว่า การจัดอบรมเพื่อพัฒนาทักษะการเป็นล่ามภาษาโรฮีนจาในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นชาวโรฮีนจาที่ถูกส่งเข้ามารับการดูแล และคุ้มครองสวัสดิภาพในสถานที่พักพิงของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จำนวนมาก ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย และเด็ก โดยส่วนใหญ่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งล่ามจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญมากในการเพิ่มประสิทธิภาพ ของการคัดแยกเหยื่อ รวมทั้งทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายได้ตรงตามสภาพปัญหาและความต้องการที่แท้จริง
"สำหรับผู้เข้ารับการอบรมฯ ครั้งนี้ ในส่วนของล่ามใหม่จะได้รับการขึ้นทะเบียนล่ามของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และมีชื่อในทำเนียบล่ามของจังหวัด ส่วนล่ามเก่าจะได้รับการส่งเสริมความรู้และพัฒนาทักษะให้มี ความเชี่ยวชาญมากขึ้น ซึ่งต่อไปกระทรวงฯ จะมีการตั้งงบประมาณสำหรับเป็นค่าตอบแทนให้แก่ล่ามในอัตรา ที่เหมาะสม ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เข้าร่วมอบรมฯ ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนรู้และมีส่วนร่วมในการฝึกปฏิบัติ งานจริงกับล่ามชาวโรฮีนจา ภายใต้การแนะนำของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในงานล่าม ทั้งนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้เข้ารับการอบรมฯ ครั้งนี้ จะเป็นกำลังสำคัญที่มีส่วนช่วยให้ปัญหาการค้ามนุษย์ได้รับการแก้ไขและคลี่คลายลงได้ในระดับหนึ่ง" พลตำรวจเอก อดุลย์ กล่าวท้าย