กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กรมทรัพย์สินทางปัญญา
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 เกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง จะมีผลบังคับใช้ หลังจากที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 132 ตอนที่ 6 ก เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา
กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน “Digital Economy” ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะอาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออินเทอร์เน็ตในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ การแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิ์เพื่อคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เว็บไซต์ต่างๆ บนอินเทอร์เน็ตปลอดจากงานละเมิดลิขสิทธิ์ เพราะกฎหมายฉบับนี้ได้ดึงให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตไม่สามารถแก้ไขได้เพียงความร่วมมือของเจ้าของลิขสิทธิ์หรือผู้บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ตในการเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้วย ซึ่งเมื่อเจ้าของสิทธิพบงานละเมิดลิขสิทธิ์บนระบบของตนก็สามารถดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดและ ISP สามารถนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบของตนเองได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น และเมื่อ ISP ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดก็จะไม่ถือว่าเป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย กฎหมายฉบับนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มั่นใจต่อการคุ้มครองงานของตน และกล้าที่จะคิดงานใหม่ๆ อีกทั้ง ทำให้สภาพแวดล้อมการละเมิดลิขสิทธิ์บนอินเทอร์เน็ตดีขึ้น ส่งผลให้การขับเคลื่อนนโยบาย Digital Economy มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
กฎหมายฉบับนี้ยังได้กำหนดถึง “ข้อมูลการบริหารสิทธิ” ซึ่งเป็นข้อมูลที่บ่งชี้ถึงผู้สร้างสรรค์ หรือข้อมูลเงื่อนไขการใช้สิทธิในงานนั้น ซึ่งปรากฏได้ในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นชื่อจิตรกรหรือชื่อเจ้าของที่ติดอยู่ที่ภาพ หรือแม้กระทั่งลายน้ำที่แฝงอยู่ หากมีการลบหรือเปลี่ยนแปลง ก็จะถือว่าเป็นความผิดฐานใหม่คือ ละเมิดข้อมูลบริหารสิทธิ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลก Social media ที่มีการแชร์รูปภาพ หรือ คลิปวีดีโอต่างๆได้อย่างง่ายดาย รวดเร็ว หากมีการนำรูปภาพที่มีการลบลายน้ำนั้น ไปแชร์ลง Social media ต่างๆ ผู้ที่แชร์นั้น นอกจากจะผิดฐานเผยแพร่ลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วยังจะผิดฐานลบข้อมูลบริหารสิทธิอีกฐานหนึ่งด้วย ถึงแม้ว่าจะมีการอ้างอิงเจ้าของภาพนั้นๆ ก็ตามเพราะเป็นการนำภาพของผู้อื่นมาเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต
นอกจากนี้ กฎหมายใหม่นี้ยังได้กำหนดถึง “มาตรการทางเทคโนโลยี” หรือ เทคโนโลยีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลนำมาป้องกันงานของตน เช่น การตั้งรหัสในการเข้ารับฟังเพลงต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต คนไหนอยากฟังเพลงหรือดาวน์โหลดเพลงก็ต้องจ่ายเงินเพื่อให้ได้รหัสในการฟังหรือดาวน์โหลดเพลงนั้นๆแต่ก็จะมีคนบางกลุ่มที่ไม่อยากเสียเงิน แต่ใช้วิธีการแฮ็ค หรือหลบเลี่ยงมาตรการนั้นๆเข้าไปฟังเพลงหรือดาวน์โหลดฟรีๆ ก็จะถือเป็นความผิดใหม่เพิ่มขึ้นอีกฐานหนึ่ง คือ ละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี ทั้งนี้ การกระทำความผิดใหม่ ทั้งสองนี้ มีโทษปรับตั้งแต่ 10,000 – 100,000 บาท หากการกระทำเพื่อการค้า จะโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือน – 2 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้มีอีกหลายส่วนที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราๆ เช่น การกำหนดให้เกิดความชัดเจนว่า เมื่อผู้ซื้อได้ซื้องานลิขสิทธิ์ เช่น หนังสือมาอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ผู้ซื้อสามารถนำหนังสือไปขายต่อได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ (สินค้ามือสอง) ซึ่งการบัญญัติในลักษณะนี้น่าจะเป็นการสร้างความชัดเจนให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปได้ นอกจากนี้ในการละเมิดลิขสิทธิ์บางกรณีหากปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงเป็นการกระทำโดยจงใจหรือมีเจตนาเป็นเหตุให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสามารถเข้าถึงโดยสาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย เช่น การนำไปเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ต กฎหมายนี้ก็ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งถือเป็นมาตรการลงโทษที่หนักขึ้นซึ่งอาจมีส่วนทำให้การละเมิด ลดน้อยลง
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558
(การคุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิและกำหนดข้อยกเว้นการกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และสิทธิของนักแสดง)
1. ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเล่ม 132 ตอนที่ 6 ก เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา
2. มีผลบังคับใช้ ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 เป็นต้นไป
3. สำหรับสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ มีดังนี้
(1) คุ้มครองข้อมูลการบริหารสิทธิเพื่อส่งเสริมการเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์และคุ้มครองสิทธิในข้อมูลที่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่ใช้บริหารจัดการสิทธิของตนไม่ให้คนอื่นมาลบหรือเปลี่ยนแปลงโดยไม่ชอบ เช่น การลบข้อมูลเกี่ยวกับชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ ชื่อผู้สร้างสรรค์ ชื่อนักแสดง เป็นต้น โดยหากบุคคลใด ลบ หรือเปลี่ยนแปลง ข้อมูลดังกล่าว ถือว่ามีความผิดฐานละเมิดข้อมูลการบริหารสิทธิ
(2) คุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้ปกป้องงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเพื่อป้องกันการทำซ้ำหรือการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น พาสเวิร์ด (password) ที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้ในการควบคุมการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนที่อยู่บนอินเทอร์เน็ต เป็นต้น โดยหากบุคคลใดทำลายมาตรการทางเทคโนโลยีดังกล่าว โดยเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ยินยอมถือว่ามีความผิดฐานละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยี
(3) กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์การทำซ้ำชั่วคราว (Exception for Temporary Reproduction) เพื่อกำหนดให้ชัดเจนว่าการทำซ้ำชั่วคราวโดยความจำเป็นของเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียกดูงานอันมีลิขสิทธิ์ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากการดูภาพยนตร์ หรือฟังเพลงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีการทำซ้ำงานเพลงหรือภาพยนตร์ดังกล่าวไว้ในหน่วยความจำ (RAM) ทุกครั้ง ด้วยความจำเป็นทางเทคนิคดังกล่าวทำให้ทุกครั้งที่มีการใช้งานอันมีลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ ผู้ใช้งานจะต้องทำซ้ำงานด้วยเสมอ การทำซ้ำลักษณะนี้เป็นการทำซ้ำชั่วคราว ที่ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
(4) เพิ่มเติมเรื่องการกำหนดข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต(Liability Limitation of ISP) เพื่อให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เช่น เจ้าของเว็บไซต์ Youtube ไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องละเมิดลิขสิทธิ์ โดยให้เจ้าของลิขสิทธิ์สามารถร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตเอาไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บไซต์ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์จะต้องแสดงหลักฐานต่างๆ ต่อศาลอย่างเพียงพอ และเมื่อศาลได้มีคำสั่งให้เอาไฟล์ละเมิดออกจากเว็บไซต์แล้ว และเจ้าของเว็บไซต์ดำเนินการตามคำสั่งศาล เจ้าของเว็บไซต์ไม่ต้องรับผิดเกี่ยวกับการกระทำที่อ้างว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว
(5) เพิ่มข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์กรณีการจำหน่ายต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนำหลักการระงับไปซึ่งสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา (Exhaustion of Rights) มากำหนดให้ชัดเจนว่าการขายงานอันมีลิขสิทธิ์มือสองสามารถทำได้โดยไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การขายภาพเขียน หนังสือ ซีดีเพลง ซีดีภาพยนตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากเป็นการขายซีดีภาพยนตร์จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดีทัศน์ด้วย มิฉะนั้น แม้ไม่ผิดตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ แต่อาจมีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ได้
(6) เพิ่มเติมเรื่องสิทธิทางศีลธรรมของนักแสดง (Moral Right) เพื่อเพิ่มสิทธิให้นักแสดง มีสิทธิทางศีลธรรมเท่าเทียมกับสิทธิทางศีลธรรมของผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ โดยนักแสดงมีสิทธิระบุชื่อตน
ในการแสดงที่ตนได้แสดง และห้ามไม่ให้บุคคลใดกระทำต่อการแสดงของตนจนทำให้เกิดความเสียหาย ต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณ
(7) เพิ่มบทบัญญัติเรื่องค่าเสียหายในเชิงลงโทษ (Punitive damages) โดยกำหนดให้ศาล มีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกินสองเท่าของค่าเสียหาย ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่ามีการกระทำโดยจงใจหรือมีเจตนาให้งานอันมีลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดงสามารถเข้าถึงโดยสาธารณชนได้อย่างแพร่หลาย
(8) กำหนดให้ศาลมีอำนาจสั่งริบหรือทำลายสิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำละเมิด และสิ่งที่ได้ทำขึ้นหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง