กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--
เมื่อเร็วๆนี้ (๓ สิงหาคม ๒๕๕๘) ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) จัดงานประกาศรางวัลแก่ผู้ชนะทั้ง ๕ ประเภท จาก “โครงการหัตถศิลป์ทรงคุณค่า วิจิตรเลิศล้ำเครื่องเบญจรงค์ไทย” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ้วยและโล่รางวัลจากศูนย์ศิลปาชีพ บางไทร และเงินรางวัลรวมมูลค่ากว่า ๔๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมนำสุดยอดหัตถศิลป์กว่า ๒๐ ผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย ร่วมจัดแสดงนิทรรศการ ณ ไลฟ์สไตล์ฮอลล์ ชั้น ๒ ศูนย์การค้าสยามพารากอน
นางสุดาสมร สุวรรณลาภเจริญ รองผู้อำนวยการศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ฝ่ายงบประมาณ เปิดเผยว่า ทางศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ได้จัดประกวดออกแบบเบญจรงค์ภายใต้หัวข้อ “เลอค่าภูมิปัญญาไทย” โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการรับรู้ต่อสาธารณชน ถึงศักยภาพการผลิตเครื่องเบญจรงค์ของผู้ประกอบการไทย รวมถึงสร้างแรงกระเพื่อมในการต่อยอดและพัฒนาภูมิปัญญาการผลิตเครื่องเบญจรงค์ ให้มีพัฒนาการและคุณภาพเหมาะสมกับยุคสมัยและความต้องการของตลาด รวมทั้งเปิดโอกาสให้กลุ่มนักศึกษาได้มีส่วนร่วมในการต่อยอดและอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมไทย ทั้งนี้ ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ได้จัดโครงการนี้ขึ้นเป็นปีแรก ซึ่ง ได้รับการตอบรับจากช่างฝีมือ ผู้ประกอบการและผู้ผลิตเบญจรงค์ รวมถึงนิสิตนักศึกษานักออกแบบรุ่นใหม่เป็นอย่างดี มีผลงานส่งเข้าประกวดในประเภทต่างๆ กว่า ๗๐ ชิ้น
การประกวดแบ่งเป็น ๕ ประเภท ได้แก่ ประเภท ก. ภูมิปัญญาดั้งเดิม สร้างสรรค์ผลงานที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาด้ังเดิมของไทย ประเภท ข. ประยุกต์ร่วมสมัย เปิดกว้างในการสร้างสรรค์ผลงานที่มีความเป็นไปได้ในการใช้งาน เลือกใช้สีสันและรูปแบบเครื่องกระเบื้องได้ไม่จำกัด ประเภท ค. สร้างสรรค์และต่อยอด เปิดโอกาสให้กลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ศึกษาด้านการออกแบบต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอแนวความคิดสร้างสรรค์ ส่งผลงานในรูปแบบคอนเซ็ปต์บอร์ด ประเภท ง. ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ และประเพณีไทย และสุดท้าย ประเภท จ. ถ่ายทอดธรรมชาติ และทัศนียภาพอันงดงามของประเทศไทย
สำหรับผลการตัดสินการประกวด “โครงการหัตถศิลป์ทรงคุณค่า วิจิตรเลิศล้ำเครื่องเบญจรงค์ไทย” ผู้ที่คว้ารางวัลชนะเลิศของประเภท ก. ภูมิปัญญาด้ังเดิม ได้แก่ นายวรวัฒน์ ตัณฑอาริยะ กับผลงานที่ชื่อว่า “ถมทอง” เป็นผลงานที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเครื่องถมของจังหวัดนครศรีธรรมราช ลวดลายที่มีความสวยงามปราณีต ผนวกกับรูปทรงของภาชนะเซรามิคที่มีความโดดเด่น มีอรรถประโยชน์ในการใช้งานได้หลากหลาย จึงชนะใจคณะกรรมการอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งเจ้าของผลงานจะได้รับถ้วยพระราชทานฯ พร้อมเงินรางวัล ๖๐,๐๐๐ บาท
ในประเภท ข. ประยุกต์ร่วมสมัย นั้น คณะกรรมการให้ความเห็นว่า ยังไม่มีผลงานใดที่มีความโดดเด่นของศิลปะประยุกต์ร่วมสมัย (Contemporary) อย่างแท้จริง ดังนั้น รางวัลสูงสุด คือ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ ซึ่งผู้ได้รับรางวัล คือ นายยุทธศักดิ์ ลุมไธสงค์ กับผลงาน “ชัยภูมิบ้านเกิด” ซึ่งสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ ของชาวอีสาน "ชัยภูมิ" สอดแทรกความเชื่อ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และวรรณกรรมของชาวอีสานที่กำลังจะสูญหาย
ประเภท ค. สร้างสรรค์และต่อยอด รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ นางสาวสกุลรัตน์ ทองคำเหลือง นิสิตคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาออกแบบสื่อนวัตกรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งนำแนวคิดลวดลายงานบุญประเพณี ๑๒ เดือนของภาคอีสาน โดยออกแบบเป็นรูปวงกลมหรือวัฏจักร เพื่อสื่อให้เห็นว่าวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทยอีสานในแต่ละเดือน
สำหรับ ประเภท ง. ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ และประเพณีไทย รางวัลชนะเลิศตกเป็นของ นางรัชนี ทองเพ็ญ ด้วยผลงาน “วิถีธรรมและความสามัคคี” ซึ่งมีการประยุกต์ใช้เทคนิคสีน้ำ ถ่ายทอดเรื่องราวประเพณีของไทยได้อย่างสวยงาม และสุดท้าย ประเภท จ. ถ่ายทอดธรรมชาติ และทัศนียภาพอันงดงามของประเทศไทย ผู้ชนะเลิศได้แก่ นางกัลยณพ มารุ่งเรือง กับผลงาน “ชุดกาแฟเนื้อโบนลายนกยูง” ที่บรรจงวาดลวดลายนกยูงบนชุดกาแฟ เพื่อสะท้อนถึงสัตว์ที่ควรอนุรักษ์ เช่นเดียวกับเครื่องเบญจรงค์ที่ถือว่าเป็นมรดกของแผ่นดิน จำเป็นต้องมีการถ่ายทอดภูมิปัญญานี้ไปยังคนรุ่นหลังสืบไป
การประกวดครั้งนี้ โครงการฯ ได้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ และผู้เชี่ยวชาญจากสาขาต่างๆ มาร่วมพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผลงาน โดยมีหลักเกณฑ์การให้คะแนนที่แตกต่างกันไปสำหรับการประกวดแต่ละประเภท อาทิ มีเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาการทำเครื่องเบญจรงค์ชัดเจน มีคุณภาพ สวยงาม มีความปราณีตของชิ้นงาน มีความคิดสร้างสรรค์ หรือมีความเป็นไปได้ในการนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ผู้ชนะเลิศการประกวดประเภท ก. จะเข้ารับถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงผู้ชนะเลิศการประกวดประเภท ข. ค. ง. จ. เข้ารับถ้วยรางวัลจากผู้แทนพระองค์ ภายในงานกาล่าดินเนอร์ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวโรกาสทรงมีพระชนมายุ ๘๓ พรรษา จัดขึ้น ในวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๘ ณ ห้องประชุมเจ้าพระยา หอประชุมกองทัพเรือ
พลเอกเธียรศักดิ์ พะลายานนท์ รองประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ ในฐานะประธานในพิธี กล่าวว่า ศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ มุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถ่ายทอดความงดงามของงานหัตถศิลป์ อันจะช่วยอนุรักษ์และฟื้นฟูอัตลักษณ์งานศิลปหัตถกรรมของไทย รวมถึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเป็นสถาบันแห่งการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมที่เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอีกด้วย
“โครงการประกวดดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อกลุ่มผู้ผลิตเครื่องเบญจรงค์ เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเบญจรงค์เป็นจำนวนมากในประเทศไทย ที่สร้างสรรค์ผลงานป้อนสู่ตลาด ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าแก่เศรษฐกิจนับหมื่นล้านบาทต่อปี ทางศูนย์ศิลปาชีพ บางไทรฯ หวังว่า โครงการฯ นี้ จะเป็นการจุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ผลิตเครื่องเบญจรงค์ รวมถึงคนรุ่นใหม่ต่อไปไม่มากก็น้อย” พลเอกเธียรศักดิ์ กล่าว