กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--สำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย
(วันที่ 6 สิงหาคม 2558) นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการสรุปผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาต้นแบบบูรณาการระบบบริหารจัดการความปลอดภัยอาหารระดับจังหวัด ปีงบประมาณ 2558 ของจังหวัดเชียงราย ซึ่งจัดขึ้นที่ โรงแรมเวียงอินทร์ จังหวัดเชียงราย ว่า ความปลอดภัยด้านอาหาร ได้ถูกยกขึ้นเป็นประเด็นสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น และระดับประเทศ จังหวัดเชียงรายนับเป็นจังหวัดแรกของภาคเหนือ แต่เป็นแห่งที่ 4 ของประเทศในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งได้มุ่งเน้นการพัฒนาความปลอดภัยด้านอาหารที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อาหาร โดยการบูรณาการการทำงานร่วมกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ องค์กรท้องถิ่น ผู้ประกอบการ กลุ่มเกษตรกร องค์กรเอกชน สถาบันการศึกษา และผู้บริโภค ซึ่งได้ร่วมกันสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการผลิต และการบริโภคอาหารที่ปลอดภัย ภายใต้โครงการบูรณาการอาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข (Food Safety Chiang Rai Model) ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ นำมาสู่นโยบายระดับจังหวัด เมืองเกษตรสีเขียวและอาหารปลอดภัย (Food Safety City)
"ในปี พ.ศ. 2558 นี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพด้านบริการสาธารณสุขและสุขภาพประชาชน เน้นการจัดระบบบริการที่มีคุณภาพและมาตรฐาน โดยเฉพาะระบบการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการอาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยมีมติเร่งรัดการดำเนินงานในเรื่องโภชนาการและอาหารปลอดภัยใน 6 ประเด็นคือ 1.น้ำดื่มและน้ำแข็ง 2.นมโรงเรียน 3.ผักและผลไม้ 4.เนื้อหมูและไก่ 5.เกลือไอโอดีน และ 6.การควบคุมสถานประกอบการค้าอาหาร" นายแพทย์สุริยะกล่าวในตอนท้าย
นายธนชีพ พีระธรณิศร์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) กล่าวว่า ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุขให้ทำการประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อรองรับระบบงานอาหารปลอดภัยของจังหวัดเชียงราย พบว่าจุดเด่นที่เป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้จังหวัดเชียงรายสามารถเดินหน้าสู่การเป็นจังหวัดต้นแบบอาหารปลอดภัยได้คือการมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง แต่อย่างไรก็ตามจังหวัดเชียงรายยังต้องเร่งพัฒนางานในเชิงระบบคุณภาพในสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ให้มีทีมเฉพาะงานด้านอาหารปลอดภัย ในการทำงานเชิงบูรณาการและเป็นระบบมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเชียงรายสู่การเป็นจังหวัดต้นแบบอาหารปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ สสอป. จะให้การสนับสนุนให้จังหวัดเชียงรายได้รับการพัฒนาตามแนวทางการจัดการคุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร ให้เป็นไปตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (International Health Regulation : IHR, 2005) โดยจะสนับสนุนการสร้างระบบและโครงสร้างการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัย สร้างมาตรฐานคุณภาพการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยให้กับสสจ. ร่วมพัฒนาคุณภาพมาตรฐานอาหารปลอดภัยของสสจ. ประเมินคุณภาพมาตรฐานการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยของสสจ. ประเมินต้นแบบอาหารปลอดภัยของจังหวัด รวมทั้งมีการมอบรางวัลเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการทำงานแก่สสจ. ส่วนอีก 72 จังหวัดที่เหลือให้ประเมินตนเองตามเกณฑ์คุณภาพงานอาหารปลอดภัยจังหวัด (Provincial Food Safety Standard :PFSS) ให้มีแนวทางการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัยเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้เกิดการบูรณาการจัดการระบบงานอาหารปลอดภัยในระดับจังหวัดอย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน นายแพทย์ธวัชชัย ใจคำวัง นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า "เชียงราย" เป็นเมืองชายแดนติดประเทศพม่าและลาว เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่เชื่อมโยงไปสู่กลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นศูนย์รวมการขนส่ง และการคมนาคมของภูมิภาค มีด่านเชียงแสน เชียงของ นำเข้าพืชผัก ผลไม้ จากประเทศเพื่อนบ้าน และส่งขายกระจายทั่วประเทศ นอกจากนั้น เชียงรายยังเป็นเมืองเกษตรกรรม รายได้หลักสำคัญของเชียงรายจึงมาจากการเกษตรกรรม การค้าชายแดน การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบริการ ทั้งนี้ จากกระแส และทิศทางการพัฒนาในปัจจุบัน จังหวัดเชียงรายจึงได้จัดทำโครงการบูรณาการอาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข ผลจากการดำเนินโครงการจึงมีการประกาศวาระจังหวัดเป็นนโยบาย เมืองเกษตรสีเขียวและอาหารปลอดภัย Food Safety City ซึ่งเป็นการดำเนินงานแบบบูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องร่วมสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างสมดุลในทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม สร้างความเข้มแข็ง และสามารถพึ่งพาตนเองได้ โดยผ่านโครงการอาหารปลอดภัย เชียงรายเป็นสุข ซึ่งมีกิจกรรมที่เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีโรงเรียนชาวนา พุทธเกษตรกร ของท่าน ว.วชิรเมธี มีโรงพยาบาลต้นแบบอาหารปลอดภัยระดับประเทศ จากสำนักบริหารการสาธารณสุข เป็นต้น
"ผลจากการดำเนินงาน ก่อให้เกิดรูปแบบกระบวนการพัฒนา "เชียงรายโมเดล" ที่ส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึง แหล่งอาหารที่มีอย่างเพียงพอ มีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการ มีระบบผลิตอาหารที่ยั่งยืน รักษาสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าและส่งเสริมเศรษฐกิจในท้องถิ่น นำไปสู่ความมั่นคงด้านอาหารในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน" นายแพทย์ธวัชชัย กล่าวปิดท้าย