กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
กอช. เร่งพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหา ส่งเสริม และพัฒนาภาคอุตสาหกรรม เดินหน้าฟื้นฟูการเติบโตของประเทศ รับมือความผันผวนด้านเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว พร้อมพิจารณาร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2559-2564 สู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมให้เข็มแข็งและยั่งยืนด้วยการเพิ่มคุณค่า พัฒนาผลิตภาพ และเชื่อมโยงกับภาคการค้าและบริการ
วันนี้ (6 สิงหาคม 2558) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าวดังนี้ นางอรรชากา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายอุดม วงศ์วิวิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม และ ดร. เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก ซึ่งที่ประชุม กอช. มีการพิจารณาเรื่องเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่สำคัญ ดังนี้
1. ความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมืองที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม
หลังจาก กอช. มีมติมอบหมายกระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองหารือและร่วมกันกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุปสรรคด้านผังเมือง ที่มีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผลการหารือกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นด้วยกับข้อเสนอการให้ ยกเลิกบัญชีท้ายกฎกระทรวงบังคับใช้ผังเมืองรวม/เมือง/ชุมชน และกำหนดเป็นข้อห้ามแทนโดยผ่านกระบวนการคณะกรรมการผังเมืองในการกำหนดรายละเอียดของข้อห้ามต่อไป การนำผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่อย่างมีศักยภาพเพื่อรองรับการลงทุนของกระทรวงอุตสาหกรรมไปใช้เป็นข้อมูลประกอบในการวางผังเมืองรวมจังหวัด/เมือง/ชุมชน และกระทรวงอุตสาหกรรมจะส่งผลการศึกษาและเข้าร่วมดำเนินการในการวางผังเมืองใน 34 จังหวัดทีมีการศึกษา เห็นด้วยกับการจัดทำหลักเกณฑ์ ข้อกำหนดเกี่ยวกับแนวกันชน และแนวป้องกัน ที่เหมาะสมกับโรงงานประเภทต่างๆ ซึ่งควรกำหนดในพื้นที่อุตสาหกรรม เพื่อช่วยลดแรงต่อต้าน และบริเวณแนวกันชนนี้ สามารถทำกิจการที่ไม่เกิดมลพิษได้ กรณีรัฐบาลมีนโยบายกำหนดพื้นที่พิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวโยงกับพื้นที่ ขอให้มีการสั่งการที่ชัดเจน กรมโยธาธิการและผังเมืองจะจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกันโยบายดังกล่าว นอกจากนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองมีข้อเสนอเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน โดยกรมโยธาธิการและผังเมืองจะร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศนำร่องในพื้นที่เหมาะสมต่อไปที่ประชุม กอช. เห็นชอบข้อเสนอดังกล่าวข้างต้น เพื่อจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
2. ร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2559-2564
จากการที่ภาวะเศรษฐกิจประเทศชะลอตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย และภาพรวมภาคอุตสาหกรรมไทยจะมีการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นประเด็นในระดับภาพรวมของประเทศที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม จึงได้ยกร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมไทย พ.ศ. 2559-2564 ขึ้น โดยวิเคราะห์สถานภาพอุตสาหกรรมไทย และสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย ร่วมกับการพิจารณานโยบาย ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์และทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยในช่วง 6 ปีข้างหน้าดังกล่าว
เป้าหมายของร่างยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อต้องการให้ภาคอุตสาหกรรมไทยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ภายใต้วิสัยทัศน์ "ปฏิรูปอุตสาหกรรมไทยให้เข็มแข็งและยั่งยืน ด้วยการเพิ่มคุณค่า พัฒนาผลิตภาพ และเชื่อมโยงกับภาคการค้าและบริการ" นำไปสู่การกำหนดทิศทางการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ให้คลอบคลุมทั้งอุตสาหกรรมเดิมที่เป็นฐานรายได้ของประเทศ และอุตสาหกรรมใหม่ที่ตอบสนองต่อกระแสโลก การพัฒนาที่ให้ความเข็มแข็งและยั่งยืนบนพื้นฐานความสมดุลทั้งในมติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม การเพิ่มคุณค่าโดยใช้องค์ความรู้และโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา กล่าวคือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญา และความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการเพิ่มมูลค่าตลอด ห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาผลิตภาพซึ่งผลจากการพัฒนานอกจากจะสร้างความเติบโตในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย และการเชื่อมโยงกับภาคการค้าและบริการ ซึ่งเป็นการปรับกระบวนทัศน์ต่อยอดอุตสาหกรรมดั้งเดิมสู่กลุ่มอุตสาหกรรมรูปแบบใหม่ที่เชื่อมโยงกับภาคการค้าและบริการมากขึ้น สอดรับกับนโยบายการพัฒนาประเทศสู่การเป็นชาติการค้า (Trading Nation) และทิศทางการพัฒนาเพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางของประเทศที่กำลังพัฒนาแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมโยงทั้งในแง่การพัฒนาผู้ประกอบการ จากผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและการค้า และสร้างความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการเชื่อมโยงเครือข่ายการผลิตและการตลาดทั้งในระดับภูมิภาค และระดับโลก
พร้อมกันนี้ ในการประชุมครั้งนี้ ได้เสนอยังเสนอร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขา คือ สาขาพลาสติก และสาขาแฟชั่น โดยยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติก มีเป้าหมายเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกให้มีสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกเทียบต่อรายได้ประชาชาติเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 30 ส่งเสริมกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เป็น Product Champion 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก ฟังก์ชั่นนอลสำหรับบรรจุอาหาร กลุ่มวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพ
สำหรับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่น ประกอบด้วยการรวมกลุ่ม 3 สาขาอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ มีเป้าหมายระยะแรก คือ เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคด้านการค้าและการจัดหาสินค้าแฟชั่นภายในปี 2560 ก้าวสู่ระยะสอง คือ เป็นศูนย์รวมการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ระดับโลกภายในปี2564 และก้าวสู่ระยะที่สาม ในการเป็นผู้นำวัฒนธรรมแฟชั่น และการออกแบบแฟชั่นระดับโลก ภายในปี 2574
ที่ประชุม กอช. มอบให้ กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มเติมรายละเอียดตามความเห็นคณะกรรมการเพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนพัฒนาอุตสาหกรรมรายสาขาที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอ กอช. ในครั้งต่อไป สำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกเห็นชอบ ร่างยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมพลาสติกและมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม บีโอไอ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนปฏิบัติการภายใต้กรอบแนวทางการดำเนินงานพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกเพื่อขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติ
ในส่วนของอุตสาหกรรมแฟชั่น มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพิจารณารายละเอียดร่างยุทธศาสตร์ให้รอบคอบและนำเสนอแนวทางไปสู่การปฏิบัติและนำเสนอในการประชุม กอช. ครั้งต่อไป
3.แผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญ
ในการประชุม กอช. ครั้งก่อนที่มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนการพัฒนาแร่เศรษฐกิจที่สำคัญ และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนการพัฒนาแร่แต่ละชนิดในรายละเอียดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อมูลเชิงวิชาการมาสนับสนุนและนำแผนดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กอช. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป ได้แก่แร่โพแทช แร่ที่เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมปุ๋ย และเป็นวัตถุดิบใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องได้ เช่น อุตสาหกรรมสบู่ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม เป็นต้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมปุ๋ยและอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ คาดว่าจะมีการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนจากประเทศจีน
แร่เหล็ก มีแนวทางการพัฒนาแหล่งแร่เหล็กและอุตสาหกรรมต่อเนื่องใน 5 ด้าน คือ 1.การส่งเสริมและพัฒนาแหล่งแร่เหล็กและกำหนดพื้นที่จัดตั้งโครงการผลิตเหล็กครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ 2. ส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 3. สร้างความเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ 4. พัฒนาแนวทางการกำกับดูแล การจัดการผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน และจัดเก็บผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่รัฐและท้องถิ่น และ 5. การผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าในภูมิภาคอาเซียน
ที่ประชุม กอช. มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเพิ่มเติมความเห็นของคณะกรรมการฯ โดยให้แผนครอบคลุมการใช้ประโยชน์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศสูงสุด เช่น การตั้งนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทาง เพื่อ แปรรูปและสร้างมูลค่าให้กับสินแร่ ให้เกิดความต่อเนื่องครบวงจร และเป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงกับแผนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มานำเสนอต่อ กอช. ในครั้งต่อไป