กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ จัดงาน "ตรานกยูงพระราชทาน" สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 10 อย่างยิ่งใหญ่ มุ่งส่งเสริมลายผ้าไหมประจำถิ่นและกระตุ้นเยาวชน อนุรักษ์ผ้าไทยและอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทั้งยังส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีโอกาสขยายตลาด เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรมีความอยู่ดีกินดีขึ้น
นายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กรมหม่อนไหม กำหนดจัดงาน "ตรานกยูงพระราชทาน" สืบสานตำนานไหมไทย ครั้งที่ 10 ขึ้น ภายใต้แนวคิด "ผ้าไหมประจำถิ่นไทย" เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติและสนองพระราชปณิธานในการสืบสานวัฒนธรรมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่กับปวงชนชาวไทย และเพื่อให้ผ้าไหมเป็นที่เลื่องลือสู่สากล ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2558 ณ ฮอลล์ 8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดงาน ในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม 2557 เวลา 14.30 น.
นายอำนวย กล่าวต่อไปว่า การจัดงานตรานกยูงพระราชทาน" สืบสานตำนานไหมไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงสืบสานและทรงให้ความสำคัญกับผ้าไหมไทย และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ในผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยที่มีเครื่องหมายรับรองตรานกยูงพระราชทาน และที่สำคัญเพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับหม่อนไหมครบวงจร ตั้งแต่ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมจนถึงการดูแลรักษาผลิตภัณฑ์ไหมและการแปรรูป อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ และร่วมสืบสานอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมให้คงอยู่สืบไป
"การจัดงานครั้งนี้ นอกจากให้ประชาชนและเยาวชนรุ่นใหม่จะได้ตระหนักและเห็นคุณค่าของผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าไหมประจำถิ่น ที่คนในท้องถิ่นควรร่วมใจกันอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป เพราะผ้าไทยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าที่สื่อถึงความเป็นตัวตนของชุมชนนั้น ๆ อย่างหาที่ใดเปรียบไม่ได้ แล้ว อาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ให้กับตนเองและครอบครัว เพราะผ้าไหมและผลิตภัณฑ์จากหม่อนและไหมของไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างดี ทำให้มีโอกาสในการทำตลาดได้ไม่ยากนัก หากต้องรักษามาตรฐานของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนพัฒนารูปแบบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นต่อไป" นายอำนวย กล่าว
ด้านนางวีณา พงศ์พัฒนานนท์ อธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวว่า การจัดงานดังกล่าว มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย อาทิ กิจกรรมที่ให้คนไทยร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ การส่งเสริมการเรียนรู้เกี่ยวหม่อนไหมครบวงจร นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมเผยแพร่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และการทอผ้าไหม โดยทรงนำหัตถกรรมพื้นบ้านหลากหลายชนิด โดยเฉพาะผ้าไหมมาส่งเสริมและพัฒนาเป็นอาชีพเสริมให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มมากขึ้นนอกจากการทำเกษตรกรรม ซึ่งทรงสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2513 และเป็นที่มาของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยจะนำเสนอ พระราชกรณียกิจที่พระองค์ได้สืบสานการทรงงานต่อจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการส่งเสริมอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และในโอกาสนี้ กรมหม่อนไหมได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงเปิดงาน และประทานโล่รางวัลของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แก่ผู้ชนะเลิศ การแข่งขันสาวไหม การประกวดผ้าไหมไทยตรานกยูงพระราชทาน และการออกแบบชุดผ้าไหมด้วย
สำหรับแนวคิดผ้าไหมประจำถิ่นไทยนั้น มีนิทรรศการผ้าไหมประจำถิ่น 10 ลวดลาย โดยผู้ทอผ้าที่มีชื่อเสียงของประเทศ เพื่อให้ประชาชนและเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับผ้าไหมประจำถิ่นของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดการภาคภูมิใจและร่วมกันอนุรักษ์ผ้าไหมเหล่านี้ให้คงอยู่ในสังคมไทย อาทิ ผ้าโฮล โดย อาจารย์สุรโชติ ตามเจริญ ผ้าซิ่นตีนจก โดย อาจารย์นุสรา เตียงเกตุ ผ้าซิ่นตีนแดง โดย นางรุจาภา เนียนไธสง เกษตรกรดีเด่นด้านการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2558 เป็นต้น
ในส่วนของเยาวชน มีการสาธิตการทอผ้าและแสดงผลงานผ้าไหมจากเยาวชนรุ่นใหม่ในโครงการสร้างทายาทหม่อนไหมในโรงเรียน นิทรรศการความรู้เกี่ยวกับหม่อนไหมครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำโดยเกษตรกรและทายาทหม่อนไหม (คู่แม่-ลูก) ตลอดจนการพัฒนาลวดลายผ้าไหมไทยแก่ชุมชน ต่าง ๆ เพื่อสร้างสรรค์เอกลักษณ์ผ้าไหมประจำถิ่นให้มีความเด่นและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด
สำหรับการประกวดผลงานด้านหม่อนไหมนั้น มีการจัดแสดงผลงานของผู้ชนะเลิศการแข่งขัน สาวไหม การประกวดผ้าไหมตรานกยูงพระราชทาน และการออกแบบชุดผ้าไหม ทั้งประเภทบุคคลทั่วไปและเยาวชนในระดับประเทศ และการประกวดผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหม ประจำปี 2558?
นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการนวัตกรรมแผ่นใยไหมของกรมหม่อนไหม ต่อยอดเป็นแผ่นใยไหมมาสก์หน้าบำรุงผิวพรรณ การแสดงงานไหมยอดแชมป์ของนักเรียนโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ที่ได้นำโครงงานศึกษาพฤติกรรมและปัจจัยที่มีผลต่อการพ่นใยเพื่อผลิตแผ่นใยไหมจากตัวหนอนไหม ไปประกวดและได้รางวัลชนะเลิศในระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ นิทรรศการหม่อนไหมในยุคดิจิตอล ซึ่งนำเทคโนโลยีมาใช้ในการลงทะเบียนเกษตรกรและการตลาดหม่อนไหมออนไลน์ นิทรรศการผ้าไหมใส่สบาย และการดูแลผ้าไหมในชีวิตประจำวันที่ง่ายและสะดวก เป็นต้น และที่สำคัญ งานนี้ยังถือว่าเป็นแหล่งรวมร้านค้าผ้าไหมคุณภาพและผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมของเกษตรกรและผู้ประกอบการจากทั่วประเทศกว่า 200 ร้านค้า