กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--ซาโนฟี่ ประเทศไทย
- สนับสนุนสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยฯ สำหรับโครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค
- จัดประกวดและมอบรางวัล TB-free Excellence Award สนับสนุนหน่วยงานที่มีผลงานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคเป็นอย่างดี
- จัดสัมมนาให้ความรู้แก่บุคลากรทางการแพทย์ในระดับภูมิภาคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553
ซาโนฟี่ ประเทศไทย ร่วมมือกับสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สานโครงการรณรงค์ประเทศไทยปลอดวัณโรค ดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรค ด้านการป้องกันและการรักษาแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย และประชาชน รวมทั้งจัดพิธีมอบรางวัล TB-free Excellence Award เพื่อสนับสนุนหน่วยงานที่มีผลงานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคเป็นอย่างดี
นายแพทย์ยุทธิชัย เกษตรเจริญ อดีตผู้อำนวยการสำนักวัณโรค ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “วัณโรคยังเป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศไทยโดยที่ธรรมชาติของโรคมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ทำให้บุคลากรสาธารณสุขรวมทั้งประชาชนทั่วไปไม่ได้ตระหนักถึงภัยเงียบนี้ แนวโน้มของปัญหาวัณโรคของประเทศไทยยังไม่ได้ลดลง อย่างมีนัยสำคัญ องค์การอนามัยโลกยังคงจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศ ที่มีปัญหาวัณโรครุนแรง ประเทศไทยมีความพร้อมต่างๆ ทางด้านสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรสาธารณสุขระดับต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ตลอดจนห้องตรวจปฏิบัติการ และโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณสุขที่ดี ที่จะจัดการกับปัญหาวัณโรคอย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่การทุ่มเทและใส่ใจในปัญหานี้ยังไม่เพียงพอ ทำให้วันนี้เรากำลังเผชิญกับปัญหาวัณโรคดื้อยาหลายขนาน และดื้อยารุนแรง ซึ่งนอกจากจะใช้งบประมาณในการดูแลเป็นจำนวนมหาศาลแล้ว ผลการรักษาก็ไม่ดีนัก”
“การป้องกันไม่ให้เกิดวัณโรคดื้อยาจึงเป็นแนวทางแก้ไขที่หวังผลในระยาวได้ดีกว่าที่จะปล่อยให้มีปัญหาดื้อยาเกิดขึ้นแล้วจึงทุ่มเทสรรพกำลังในการแก้ปัญหา ต้องอย่าลืมว่าระบบการรักษาที่ไม่มีประสิทธิภาพจะสามารถทำให้วัณโรคไม่ดื้อยาเปลี่ยนเป็นวัณโรคดื้อยาได้ ภายในเวลา 2 – 3 เดือน ขณะที่การรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนานแล้วต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 เดือน”
“ดังนั้น เพื่อเป็นการส่งเสริมให้แพทย์และทีมงานเห็นความสำคัญในการพัฒนาการบริการแก่ผู้ป่วยวัณโรค ในด้านการวินิจฉัย การรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยหายจากโรควัณโรคให้มากที่สุด ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สมาคมปราบวัณโรคฯ จึงได้จัดการประกวดส่งผลงานชิงรางวัล TB-free Excellence Award เพื่อส่งเสริมและให้กำลังใจแก่หน่วยงานที่มีผลงานการดูแลผู้ป่วยวัณโรคเป็นอย่างดี มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553” นายแพทย์ยุทธิชัย กล่าวสรุป
ทั้งนี้ สมาคมปราบวัณโรคฯ ได้มอบหมายให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรคจำนวนอย่างน้อย 5 ท่านทำการพิจารณาโครงการที่เข้าร่วมประกวดและตัดสินรางวัล โดยมีโครงการส่งเข้าประกวดมาแล้วกว่า 100 โครงการ และหน่วยงานที่ได้รับรางวัลจากผลงานลำดับที่ 1 ในปี 2557 ได้แก่ โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี รางวัลผลงานลำดับที่ 2 ได้แก่ โรงพยาบาลนครธน กรุงเทพมหานคร
เกี่ยวกับรางวัล TB-free Excellence Award
รางวัล TB-free Excellence Award โดยการสนับสนุนด้านงบประมาณจากซาโนฟี่ ประเทศไทย พิจารณา โดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านวัณโรค กำหนดตัวชี้วัดเพื่อการประเมินคุณภาพการให้บริการ ดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรค เป็นต้นว่า มีทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยวัณโรค มีการพัฒนาแนวทางการดูแลที่ดีขึ้น มีนวัตกรรมที่ดำเนินการเพื่อให้ผลการรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และโครงการมีลักษณะที่แสดงให้เห็นของการมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองท้องถิ่นตลอดจนชุมชน และที่สำคัญต้องมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่นๆ