กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมด้วย นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน และนายสัญชัย เกตุวรชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เดินทางไปติดตามความก้าวหน้างานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี
สำหรับโครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ที่กรมชลประทาน ก่อสร้างสนองพระราชดำริ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำต้นทุนของลุ่มน้ำปราจีนบุรี และเพิ่มพื้นที่ชลประทาน รวมทั้ง บรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ลุ่มน้ำปราจีนบุรีและลุ่มน้ำสาขา ในเขตอ.นาดี และอ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี นอกจากนี้ ยังใช้สำหรับการอุปโภค-บริโภค การประปา และรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็มและน้ำเน่าเสียในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำบางปะกงด้วย ลักษณะของโครงการฯ เป็นอ่างเก็บน้ำที่สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 295 ล้านลูกบาศก์เมตร ตัวเขื่อนเป็นแบบชนิดเขื่อนดิน สูงประมาณ 32.75 เมตร ยาวประมาณ 3,967 เมตร หากก่อสร้างแล้วเสร็จ จะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ได้ประมาณ 111,300 ไร่ ปัจจุบันมีผลการดำเนินการคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 60 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2561
จากนั้น คณะของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอธิบดีกรมชลประทาน ได้เดินทางต่อไปยังโครงการอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการฯ โดยปัจจุบันกรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำเสร็จไปแล้วกว่าร้อยละ 98 เริ่มเก็บน้ำในฤดูฝนได้อย่างเต็มศักยภาพของอ่างฯ ช่วยป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมในเขต อ.พานทอง อ.พนัสนิคม อ.เกาะจันทร์ และ อ.เมือง จ.ชลบุรี เมื่อคราวเกิดน้ำท่วมหนักในช่วงฤดูฝนปี 2556 ที่ผ่านมาได้เป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้เริ่มดำเนินก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร มาตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2552 คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จทั้งโครงการฯในปี 2558 สามารถเก็บกักน้ำได้ 98 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในฤดูฝนและปัญหาขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ในเขตลุ่มน้ำคลองหลวง ได้แก่ อ.พานทอง อ.พนัสนิคม อ.เกาะจันทร์ อ.บ่อทอง และอ.เมือง จ.ชลบุรี รวมทั้งรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมในบริเวณพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อให้มีแหล่งน้ำเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและอุปโภค-บริโภค มีพื้นที่เกษตรกรได้รับประโยชน์ในฤดูฝน 44,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 8,500 ไร่
"ในปี 2558 - 2559 กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานจะเร่งดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานให้แล้วเสร็จตามแผนโดยเร็ว เพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทานและสามารถบริหารจัดการน้ำทั้งในฤดูฝนและแล้งให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบด้วย โครงการชลประทานขนาดใหญ่ 11 แห่ง โครงการขนาดกลาง 105 แห่ง และโครงการขนาดเล็กอีก 500 กว่าแห่ง รวมถึงแผนการกระจายน้ำและขุดลอกแก้มลิงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีประมาณ 18 แห่งด้วย"นายปีติพงศ์ กล่าว