กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และ ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนใน 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยมีปัจจัยจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงจนอยู่ในเกณฑ์ซบเซา (Bearish)
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO NIDA Investor Sentiment Index) ซึ่งทำการสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้ลงทุน 4 กลุ่มในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่มีต่อระดับดัชนีฯ ในอีก 3 เดือนข้างหน้าว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงอย่างมาก” จนอยู่ในเกณฑ์ซบเซา (Bearish) โดยมีปัจจัยหลักจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
· นักลงทุนคาดการณ์ดัชนีความเชื่อมั่นในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม) อยู่ที่ 57.27 (ช่วงค่าดัชนี 0 - 200) ปรับตัวลดลง 41.73% จากดัชนีในเดือนที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 98.28 โดยนักลงทุนทุกกลุ่มมองไปในทิศทางเดียวกันว่าตลาดจะปรับตัวลงไปอยู่ในเกณฑ์ซบเซา (Bearish)
· โดยเฉพาะดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 71.43% (ต่ำสุดในรอบ
14 เดือน) อยู่ที่ 28.57 จนแตะระดับซบเซาอย่างมาก (Extremely Bearish) ในขณะนักลงทุนสถาบันต่างประเทศ มีความเชื่อมั่นปรับลดลงน้อยที่สุด อยู่ที่ 62.5 (Bearish) หรือ 12.5%
· หมวดอุตสาหกรรม ที่น่าลงทุน มากที่สุด คือ หมวดบริการรับเหมาก่อสร้าง (CONS)
· หมวดอุตสาหกรรม ที่ไม่น่าลงทุน มากที่สุด คือ หมวดเหล็ก (STEEL)
· ปัจจัยเชิงบวก ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ นโยบายด้านเศรษฐกิจ
· ปัจจัยเชิงลบ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นมากที่สุด คือ เศรษฐกิจในประเทศ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดหุ้น อาทิ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) หนี้เสียในกลุ่มประเทศยูโรโซน และปัญหาการเมืองระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยภายในประเทศบางประการที่ส่งผลต่อทิศทางตลาดหุ้น เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ ปัญหาการส่งออกที่ลดลง หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น การไหลเข้าออกของเงินทุน การเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและการลงทุนโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ต้องพิจารณาเลื่อนออกไปในช่วงครึ่งปีหลัง รวมถึงแนวโน้มการปรับคณะรัฐมนตรีและปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น
ดร. อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย สายบริหารความเสี่ยง ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ให้มุมมองเกี่ยวกับภาพรวมเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีการเติบโตต่ำกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของปีนี้มีโอกาสที่จะโตต่ำกว่าร้อยละ 3 อันเป็นผลกระทบมาจากภาคการส่งออกที่แผ่วลงตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังตกต่ำตามราคาของตลาดโลกและผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง รวมไปถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของภาคส่งออกไทยที่ยังพึ่งพาการใช้ภาคแรงงานมากกว่าเทคโนโลยี ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีค่าแรงถูกกว่า ทำให้ประเทศเสียความสามารถในการแข่งขัน
ด้านภาคอุปสงค์ในประเทศนั้นมองว่าการบริโภคภาคเอกชนยังคงฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ ผลมาจากกำลังซื้อภายในประเทศที่อ่อนแอ รายได้ของเกษตรกรที่หดตัว หนี้สินภาคครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูง ด้านการลงทุนของภาคเอกชนนั้นมีการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมมีกำลังการผลิตเหลืออยู่มาก แต่ภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนจากการลงทุนภาครัฐที่มีความล่าช้าโดยเฉพาะโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในช่วงที่เหลือของปีนี้คงต้องฝากความหวังไว้ที่ภาคการท่องเที่ยวที่ยังมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับสูง
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนนั้นมองว่ายังคงมีความผันผวนรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมา และในช่วงที่เหลือของปีนี้ ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินบาทอาจแตะระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ในช่วงปลายปี ทั้งนี้จะต้องระมัดระวังว่าหากทางสหรัฐฯ มีการชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed จะส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้ในระยะสั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ย คาดว่ามีแนวโน้มคงที่ตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่หากมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเกิดภาวะถดถอยทางเทคนิค (technical recession) ทางคณะกรรมการนโยบายการเงินอาจปรับลดดอกเบี้ยได้อีก ซึ่งอาจส่งผลให้บาทอ่อนค่าไปกว่าที่ได้คาดการณ์ไว้
สอบถามข้อมูลและกิจกรรมต่างๆ เพิ่มเติม ได้ที่ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) โทร 02 229 2902-3 หรือ Email: fetco@set.or.th