กรุงเทพฯ--10 ส.ค.--การประปาส่วนภูมิภาค
การประปาส่วนภูมิภาคจัดงบ 2,633 ล้าน เดินหน้าโครงการปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาคสาขาหาดใหญ่ – สงขลา รองรับการขยายตัวของชุมชนในอีก 10 ปีข้างหน้า
นางรัตนา กิจวรรณ (กิด-จะ-วัน) ผู้ว่าการการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันเขตเทศบาลนครหาดใหญ่มีการขยายตัวของชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความต้องการใช้น้ำสูงขึ้น ส่งผลให้กำลังการผลิตน้ำประปาเริ่มไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน กปภ.จึงดำเนินโครงการปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาหาดใหญ่ – สงขลา โดยจัดหาที่ดินสำหรับก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบและสถานีผลิตน้ำ ด้วยวงเงินกว่า 2,633 ล้านบาท ซึ่งจะแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2557 มีโครงการพัฒนาระบบน้ำดิบ ระบบผลิต และระบบจ่ายน้ำ ประกอบด้วย การก่อสร้างสถานีสูบน้ำดิบและสถานีผลิตน้ำบ้านบางศาลา (แห่งใหม่) ขนาดกำลังผลิต 4,000 ลบ.ม./ชม. รวมถึงการวางท่อส่งน้ำประปาในหลายเส้นทาง ความยาวรวมประมาณ 70 กิโลเมตร และวางท่อส่งน้ำลอดทะเลจากสงขลาไปยังสถานีจ่ายน้ำเขาเขียว ระยะทาง 10 กิโลเมตร ในระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2565 ประกอบด้วย การก่อสร้างระบบผลิตน้ำประปา ขนาดกำลังผลิต 3,000 ลบ.ม./ชม. บริเวณบ้านบางศาลา ก่อสร้างถังน้ำใส ขนาด 15,000 ลบ.ม. จำนวน 2 ถัง และวางท่อส่งน้ำความยาวรวมประมาณ 50 กิโลเมตร
ปัจจุบัน กปภ.สาขาหาดใหญ่ มีกำลังผลิตรวม 8,100 ลบ.ม./ชม. ให้บริการในพื้นที่เขตเทศบาลนครหาดใหญ่ เทศบาลเมืองคอหงส์ เทศบาลเมืองควนลัง เทศบาลเมืองบ้านพรุ และพื้นที่รอบนอก เช่น อ.นาหม่อม อ.คลองหอยโข่ง อ.บางกล่ำ ฯลฯ นอกจากนี้ กปภ.สาขาหาดใหญ่ ยังต้องส่งน้ำในอัตรา 3,100 ลบ.ม./ชม.ให้กับ กปภ.สาขาสงขลา เพื่อจ่ายให้กับผู้ใช้น้ำ พื้นที่ อ.เมือง อ.สิงหนคร ต.เกาะยอ รวมถึง อ.จะนะ บางส่วน เนื่องจาก กปภ.สาขาสงขลา ไม่มีแหล่งน้ำดิบและระบบผลิตน้ำประปา อย่างไรก็ตาม กปภ.สาขาหาดใหญ่ซึ่งเป็นกำลังหลักในผลิตส่งจ่ายน้ำนั้น ใช้น้ำดิบจากคลองอู่ตะเภาเพียงแห่งเดียว จ่ายน้ำในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่และชุมชนโดยรอบครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 129 ตร.กม. อีกทั้งระบบท่อจ่ายน้ำมีท่อเก่าจำนวนมากทำให้มีปริมาณน้ำสูญเสียสูง จึงไม่สามารถจ่ายน้ำให้ทั่วถึงพื้นที่รอบนอกได้
ผู้ว่าการ กปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการปรับปรุงขยาย กปภ.สาขาหาดใหญ่ – สงขลา จะช่วยปรับปรุงระบบประปาให้มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ จ.สงขลาซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและคมนาคมขนส่งที่สำคัญของภาคใต้ เพื่อแก้ปัญหาแหล่งน้ำดิบให้สามารถบริการน้ำประปาอย่างทั่วถึงและเพียงพอกับความต้องการใช้น้ำของชุมชนในอนาคต 10 ปีข้างหน้า