กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--พีอาร์ บูม
แจงเหตุยกเลิกสัมปทานป้ายโฆษณาบริเวณป้ายรถเมล์กทม.กว่า 1 พันแห่งTSF ยืนยันป้ายโฆษณาเดิมมีสภาพทรุดโทรมไม่สามารถทำธุรกิจได้
ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) แจงกรณียกเลิกป้ายโฆษณาบริเวณป้ายรถประจำทางจำนวนกว่า 1,000 แห่ง เนื่องจากป้ายมีปัญหาชำรุดและทรุดโทรมไม่สามารถทำธุรกิจได้ เผยหลังจากที่บริษัทฯ ได้รับสิทธิสัมปทานมีป้ายโฆษณาคู่แข่งที่ไม่ได้ผ่านการประกวดราคาทำให้บริษัทเสียเปรียบด้านต้นทุน ยืนยันป้ายโฆษณาที่ประชาชนร้องเรียนว่ามีขนาดและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมเป็นของผู้รับสิทธิรายเดิม
นายวิโรจน์ วชิรเดชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน)หรือ TSF ชี้แจงกรณีปัญหาที่เกิดจากการยกเลิกสัมปทานป้ายโฆษณาบริเวณป้ายรถเมล์ประจำทางกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า เนื่องจากศาลาที่พักผู้โดยสารและป้ายโฆษณาที่มีอยู่เดิมทั้งหมดถูกทำลายจนชำรุดและบกพร่อง ทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ บริษัทฯ ตัดสินใจคืนสัมปทานป้ายโฆษณาบริเวณที่พักผู้โดยสารประจำทาง 2 โครงการ ทั้งนี้ ในปี 2555 กทม. ได้ออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเสนอราคาประมูลจ้างด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Auction) เพื่อได้รับสิทธิและดูแลศาลาที่พักผู้โดยสารรถประจำทาง กลุ่ม A จำนวน 516 หลัง และกลุ่ม C จำนวน 538 หลัง ซึ่งในขณะนั้น กทม. ได้ให้สิทธิกับ TSF เพียงรายเดียวเท่านั้น
แต่หลังจากที่บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญากับ กทม. ปรากฎว่าไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ประมาณ 6 เดือนนับแต่สัญญามีผลบังคับใช้ เนื่องจากปัญหาป้ายโฆษณาที่มีอยู่เดิมชำรุดและเสียหาย ซึ่งบริษัทฯ ได้เจรจาขอชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด 2 ปี จนเวลาล่วงเลยมานานและแผนทางธุรกิจของบริษัทได้เสียหายไปมาก ที่ประชุมคณะกรรมการจึงมีมติให้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายจาก กทม. เป็นจำนวนเงินประมาณ 388 ล้านบาท
นายวิโรจน์เปิดเผยเพิ่มเติมว่า หลังจากที่บริษัทชนะการประมูลและทำสัญญากับกรุงเทพมหานครแล้วกลับมีสื่อโฆษณากลางแจ้งอื่นๆ รวมทั้งมีผู้ประกอบการในธุรกิจป้ายโฆษณาริมทางเท้าเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยที่ไม่ต้องเข้าประกวดราคา หรือทำ E-Auction แต่อย่างใด เช่น ศาลาจักรยาน 50 ศาลา ซึ่งมีป้ายโฆษณาจำนวน 250 ป้าย และป้ายที่ติดตั้งใต้ทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการดังกล่าวนี้ไม่ต้องขออนุมัติหรือชำระเงินให้แก่ กทม. แต่อย่างใด ทำให้บริษัทฯ เสียเปรียบเนื่องจากมีต้นต้นทุนในการดำเนินธุรกิจที่สูงกว่า
“เมื่อเร็ว ๆ นี้สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวโดยอ้างแหล่งข่าวจากสำนักงานจราจรและขนส่ง (สจร.) ว่า การยกเลิกสัมปทานดังกล่าวทำให้ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเป็นการกีดขวางการสัญจรของประชาชน และบริเวณป้ายรถประจำทางมีสภาพทรุดโทรม บริษัทฯ ขอชี้แจงว่าประเด็นที่บริษัทฯ ได้ใช้สิทธิขอยกเลิกสัญญาโครงการ A และ C กับ กทม. นั้น สำนักจราจรและขนส่ง (สจส.) ได้มีคำสั่งลงวันที่ 19 สิงหาคม 2556 แจ้งให้บริษัทระงับการติดตั้งป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ซึ่งยังมิได้มีการติดตั้งตามสัญญาไว้ทั้งหมด ไม่ได้เป็นคำสั่งให้บริษัทรื้อถอนปรับเปลี่ยนป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ในจุดที่มีประชาชนร้องเรียน โดยไม่ได้มีการระงับการติดตั้งป้ายตามที่ สจส. กล่าวอ้างในข่าวดังกล่าวแต่อย่างใด” นายวิโรจน์กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรีซิกตี้ไฟว์ จำกัด (มหาชน)ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ประชาชนร้องเรียนว่ามีขนาดและอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสมนั้น เป็นป้ายโฆษณาที่ผู้รับสิทธิรายเดิมได้ก่อสร้างไว้ และมีอยู่ก่อนที่บริษัทฯ จะเข้าทำสัญญากับ กทม. เมื่อปี 2555 ไม่ได้เป็นป้ายที่บริษัทฯ ก่อสร้างขึ้นใหม่ แต่มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาป้ายดังกล่าวหลังจากที่สัญญาระหว่าง กทม. และผู้รับสิทธิรายเดิมสิ้นสุดลง แต่แม้ว่าบริษัทจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโครงการ A และ C ไปแล้ว แต่เพื่อสาธารณะประโยชน์และเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้ศาลาที่พักผู้โดยสารต้องเดือดร้อน บริษัทฯ ยังคงดูแลรักษาศาลาที่พักผู้โดยสารภายใต้สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวอยู่ อีกทั้งยังดูแลให้ระบบไฟฟ้าทำงานได้ตามปกติเช่นเดิมจนถึงปัจจุบัน