กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--ซีทรู มีเดีย
จังหวัดเพชรบูรณ์จับมือกระทรวงพาณิชย์ ยกระดับมะขามหวานเมืองเพชรบูรณ์ ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI สนองนโยบายของรัฐฯ ส่งเสริมการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน ทั้งสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูปและสินค้าอุตสาหกรรม หวังใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในการขยายโอกาสทางการตลาด สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค ทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดจะส่งผลในการสร้างรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน
มะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นสินค้าผลไม้ที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วทั้งในประเทศและต่างประเทศ จากความอุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุในดินและสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้ผลผลิตมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์มีคุณภาพดี มีรสชาติที่โดดเด่น เป็นที่นิยมของผู้บริโภค แต่ในขณะเดียวกัน มีหลายๆจังหวัดของประเทศไทย ที่มีการปลูกมะขามหวาน อาทิ จังหวัดเลย หนองคาย อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก ฯลฯ ซึ่งผลผลิตมะขามหวานจากนอกพื้นที่จำนวนมากได้ถูกจำหน่าย หรือผสมจำหน่ายในชื่อของมะขามหวานเพชรบูรณ์ สร้างความสับสนแก่ผู้บริโภค และส่งผลกระทบต่อราคาที่เกษตรกรผู้ปลูกมะขามหวานของจังหวัดเพชรบูรณ์ได้รับ
นางดวงกมล เจียมบุตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ได้เล็งเห็นถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ เพื่อการประชาสัมพันธ์ถึง เรื่องราว และคุณลักษณะเด่นของมะขามหวานเพชรบูรณ์ในแต่ละสายพันธุ์ ซึ่งปัจจุบัน กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้ขึ้นทะเบียนมะขามหวานเพชรบูรณ์ เป็นสินค้าอันเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI อันเป็นเครื่องหมายรับรองถึงคุณภาพของสินค้าที่มีคุณภาพดีจากแหล่งผลิตที่มีสภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม ซึ่งเป็นที่รู้จักและยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ
"ปัจจุบันมีผู้ประกอบการมะขามหวานจังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวนกว่า ๓๐ ราย ที่ได้รับการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง GI ติดบนหีบห่อของมะขามหวานเพชรบูรณ์ ซึ่งเครื่องหมายนี้ จะเป็นการรับรองได้ว่าสินค้ามะขามหวานดังกล่าว เป็นมะขามหวานเพชรบูรณ์ที่แท้จริงจากแหล่งผลิตคุณภาพที่ได้มาตรฐาน"
โครงการพัฒนาศักยภาพสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ จะดำเนินการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์เรื่องราวมะขามหวานเพชรบูรณ์ ใน ๓ ภาษา คือ ไทย อังกฤษ และจีน ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ อาทิ สารคดีในรายการโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ในวารสารต่างๆ ไฟล์ทแมกกาซีน ของสายการบินแอร์เอเชียตลอดเดือนสิงหาคม ป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่ในกรุงเทพมหานคร สื่อ IT และเผยแพร่ผ่านหน่วยงานกระทรวงพาณิชย์ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่นิยมบริโภคมะขามหวาน ฯลฯ นอกจากนี้ จะมีการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์และผลิตภัณฑ์ชุมชน ในกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มช่องทางในการสื่อสารถึงผู้บริโภค ให้มีความเข้าใจในการเลือกซื้อสินค้ามะขามหวานเพชรบูรณ์ อีกด้วย"