กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร แจงผลเสวนา ทางออกประเทศไทย ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง ชูบทสรุปข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากผู้ทรงคุณวุฒิระดับแนวหน้าของประเทศหลังถกหารือกับหลายภาคส่วน พร้อมเผยมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และแนวทางเพื่อปฏิรูปกระบวนการจัดสรรน้ำชลประทาน
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการเสวนา เรื่อง ทางออกประเทศไทย ฝ่าวิกฤตภัยแล้ง ซึ่ง สศก. ได้จัดขึ้นไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน ซึ่งการเสวนาดังกล่าว มีผู้ร่วมการเสวนาที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม ประกอบด้วย 1) ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย 2) ผศ.ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ 3) รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต 4) ดร.ทองเปลว กองจันทร์ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำ กรมชลประทาน 5) นายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร 6) นายสมพงษ์ อ้นชาวนา ผู้แทนเกษตรกร จังหวัดพิษณุโลก และ 7) นายชูชาติ อินสว่าง ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เข้าร่วมให้ข้อคิดเห็น ในการนี้ สศก. ได้สรุปผลการเสวนา รวมทั้งข้อคิดเห็นต่างๆ ที่สำคัญและน่าสนใจในหลายประเด็น ดังนี้
เกษตรกรภาคกลางบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนบนและตอนล่างได้เปรียบภาคอื่น เนื่องจากใช้น้ำจากเขื่อนในการทำนา เป็นหลัก ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือรอน้ำฝนเพียงอย่างเดียว และที่ผ่านมาเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาไม่มีการปรับตัวเมื่อเกิดปัญหา ดังนั้น มีทางเลือก 2 ทาง คือ (1) ออกไปทำงานนอกบ้าน/นอกพื้นที่ หรือรับจ้าง และ (2) ขอชดเชยความเสียหาย ซึ่งรัฐบาลควรวางหลักเกณฑ์ โดยนำข้อมูลของ GISTDA ระดับตำบล มาประกอบการพิจารณาให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผ่านองค์กร/สภาตำบล หรือจัดสรรให้ อบต.ทำโครงการจ้างงานชั่วคราว และให้เกษตรกรทำประกันภัยพืชผลเกษตร เพื่อทดแทนระบบจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากภัยพิบัติ เนื่องจากปัญหาเกษตรกรบางกลุ่มมี Moral Hazard และรัฐบาลควรทบทวนและอุดหนุนค่าเบี้ยประกันบางส่วน
นอกจากนี้ ควรปฏิรูปกระบวนการจัดการน้ำชลประทานใหม่ แทนการจัดการแบบรวมศูนย์ที่ทำให้เกิดจุดอ่อนในหลักธรรมาภิบาล ควรเน้นจัดการด้าน Demand Side และถ่ายโอนอำนาจการบริหารจัดการน้ำจากระดับจังหวัดลงสู่ชุมชน โดยผู้ใช้น้ำเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งในด้านการใช้น้ำ ค่าบำรุง/ซ่อมแซมคูคลอง เพื่อให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของน้ำและจะได้ใช้น้ำอย่างประหยัด มีการซ่อมบำรุงระบบแบบ Two in One เช่น การซ่อมบำรุงระบบคลองในทุ่งรังสิต ซึ่งทำหน้าที่เป็นทั้งคลองส่งน้ำและคลองระบายน้ำ ทั้งนี้ กรมชลประทานควรมุ่งงานด้านเทคนิค วิชาการ และส่งเสริมระบบการจัดการลุ่มน้ำและคูคลองให้เข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม แนะนำให้งดการช่วยเหลือเกษตรกรในรูปแบบจ่ายเป็นเงินสด เปลี่ยนเป็นมาตรการอื่นที่ชัดเจน มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพาะปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและให้ความสำคัญกับปศุสัตว์ ประมง และพืชอื่น รวมทั้งการให้ข้อมูลข่าวสารเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องให้ล่วงหน้า เช่น ขณะนี้ต้องให้ข้อมูลการเพาะปลูกในฤดูแล้งหน้า (1 พ.ย. 58 – 30 เม.ย. 59)
สำหรับมาตรการที่รัฐควรดำเนินการ ได้แก่ (1) ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวนาปรังในช่วงฤดูแล้ง เป็นการส่งเสริมปลูกพืชใช้น้ำน้อย ทำเกษตรแปลงใหญ่ (2) โครงการฟาร์มชุมชน ประมาณ 3,000 ตำบล เพื่อจ้างงานและสร้างแหล่งอาหารรวมทั้งรายได้ (3) การตรวจเยี่ยมและสื่อสารความเข้าใจทุกชุมชนที่ประสบภัยแล้งผ่านศูนย์เรียนรู้ 882 ศูนย์ และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประจำตำบล (ศบกต.) โดยแต่ละศูนย์ฯ มี Internet สามารถใช้ Application Facebook และมี Mobile Units รวมทั้งสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ในฤดูแล้งปีเพาะปลูก 2558/59 เนื่องจากลุ่มเจ้าพระยาต้องงดทำนา 3 รอบ (นาปรัง ปี 2558 นาปี ปี 2558/59 และคาดว่าจะกระทบนาปรัง ปี 2559) เพื่อให้เกษตรกรได้วางแผนจัดการน้ำ โดยระบบการตรวจเยี่ยมรายตำบลลงถึงระดับหมู่บ้าน และครัวเรือน ยังมีความจำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ควรดูแลด้านการเกษตรและเกษตรกร โดยยึดแนวทางการจัดสรรน้ำ ดังนี้ (1) ด้านการอุปโภค-บริโภค น้ำกินน้ำใช้ให้พอเพียง (2) ด้านการรักษาระบบนิเวศน์ ไม่ให้น้ำเค็มเข้ามาในพื้นที่เกษตร (3) ด้านการเกษตร ดูแลพื้นที่ที่เกษตรกรปลูกข้าวแล้ว 3.44 ล้านไร่ และ (4) ด้านอุตสาหกรรม ควรมีมาตรการจำกัดการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหญ่ เพื่อให้เกิดการจัดการที่มีประสิทธิภาพ (เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ) การลดแรงดันน้ำในเวลากลางคืน รวมทั้งการหมุนเวียนจ่ายน้ำ โดยคนในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต้องแสดงให้สังคมเห็นว่ามีความตระหนักในการประหยัดน้ำ ตลอดจนเน้นจัดการด้าน Demand water management มากกว่าด้าน Supply water management เพื่อการปฏิรูปจัดการน้ำแบบใหม่ เพราะ Supply มีข้อจำกัดในการขยายตัว