กรุงเทพฯ--11 ส.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ
รองนายกฯ ชู 5 ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจดิจิตอล รองนายกรัฐมนตรีเผยรัฐบาลกำหนด 5 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลผลักดันโครงข่ายบรอดแบนด์ 4G ครอบคลุมทุกพื้นที่ เน้นสะดวก รวดเร็ว ราคาถูกหวังดัน GDP ประเทศโต 7 แสนล้านบาทในปี 2563
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี2558 หรือ NBTC Expo Thailand ( NET2015 ) ภายใต้แนวคิดก้าวสู่อนาคตโลกดิจิตอล จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ว่าเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจประเทศ สังคมรูปแบบนี้จะมีกระบวนการหรือกิจกรรมใด ๆ ที่ถูกขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงด้วยเทคโนโลยีสื่อสาร ครอบคลุมไปถึงการดำเนินชีวิตประจำวันของประชาชนรัฐบาลจึงตระหนักในการผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีแก่ประชาชน
โดยเครื่องมือที่จะทำให้ประเทศประสบความสำเร็จก้าวสู่เศรษฐกิจดิจิตอลได้จะต้องมีโครงข่ายโทรคมนาคมความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์ ทั้งโครงข่ายภาคพื้นดิน และโครงข่ายไร้สายอย่าง 3G และ 4G LTEที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลขนาดใหญ่ให้ครอบคลุมทั่วประเทศบนมาตรฐานความปลอดภัยและการเชื่อมต่อข้อมูล เพื่อให้คุณภาพและราคาค่าบริการอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน คาดว่าหากประเทศไทยสามารถดำเนินนโยบายบรอดแบนด์ให้ครอบคลุมพื้นที่ จากร้อยละ 52 ในปี 2558 เป็นร้อยละ 133 ภายในปี 2563 จะทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีมูลค่าสูงขึ้นกว่า 2,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 730,000 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
“ ปัจจุบันประเทศที่เจริญแล้ว ได้ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจดิจิตอลเป็นลำดับต้น ๆ โดยการวางเครือข่ายการสื่อสารให้ประชาชนสามารถเชื่อมโยงและติดต่อสื่อสารได้ในราคาถูกบนบรรทัดฐานที่รวดเร็ว ขณะเดียวกันการสื่อสารได้เข้ามามีบทบาทกับสังคมไทยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รัฐบาลจึงมุ่งเน้นให้การพัฒนาด้านการสื่อสาร เป็นเหมือนเครื่องมือเพื่อขยับอันดับของประเทศไทยให้สูงขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันกับประเทศต่าง ๆ ในยุคดิจิตอลได้ ” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลไว้ 5 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์แรกการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอล ซึ่งรัฐบาลจะเร่งพัฒนาโครงข่ายการสื่อสารครอบคลุมทั่วประเทศในระดับหมู่บ้าน ให้มีขนาดเพียงพอต่อการใช้งาน มีเสถียรภาพในราคาที่เหมาะสม ยุทธศาสตร์ที่ 2. การสร้างความมั่นคงปลอดภัย และความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิตอล โดยการเร่งทบทวน ปรับปรุง ยกร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลทุกฉบับ ยุทธศาสตร์ที่ 3. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อส่งเสริมการให้บริการ โดยเร่งยกระดับการให้บริการ e-Government ยุทธศาสตร์ที่ 4. การส่งเสริมและสนับสนุนดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจ โดยรัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างระบบนิเวศดิจิตอลอย่างครบวงจร นำไปสู่การแข่งขันเชิงสร้างคุณค่าของสินค้าและบริการ และยุทธศาสตร์ที่ 5. การสร้างสังคมดิจิตอลเพื่อสังคมและทรัพยากรความรู้ โดยพัฒนาข้อมูลข่าวสารและบริการของรัฐต่างๆ ให้เอื้ออำนวยต่อคนทุกระดับอย่างทั่วถึง
สำหรับความคืบหน้าในการดำเนินการที่ผ่านมา รัฐบาลได้เร่งดำเนินการจัดแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมทั้งศึกษาและออกแบบโครงข่ายสื่อสารบรอดแบนด์แห่งชาติ และเตรียมการด้านปัญหาการพาดสายสื่อสารเพื่อขยายโครงข่ายโทรคมนาคม มีการเตรียมการด้าน International Gateway หรือการรวบรวมข้อมูลสินทรัพย์โครงข่ายสื่อสาร การดำเนินงานศูนย์ข้อมูลภายในประเทศ หรือ Data Center เร่งสร้างระบบ E-Government เพื่อให้ประชาชนรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้เพียงบัตรประชาชน มีการเปิดศูนย์การเรียนรู้ทางไกลผ่านอินเตอร์เน็ตเพิ่มเป็น 15,000 แห่ง เพื่อให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสเรียนกับครู อาจารย์ จากกรุงเทพฯ และการผลักดันเครือข่ายใยแก้วนำแสง โดยเร่งนำเครือข่ายใยแก้วนำแสงหรือไฟเบอร์ออฟติกเข้าถึงทุกพื้นที่
การผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) จะสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรมได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็น ภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคประชาชนที่ต้องมีองค์ความรู้เพื่อก้าวให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้รัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังความคิดเห็นในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ (Digital Economy) เพื่อหาทางเลือกในการดำเนินการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน