กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--TCELS
กูรูด้านเวนเจอร์แคปิตอลชี้แนวโน้มสุขภาพของโลก การรักษาโรคเฉพาะบุคคล อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เป็นตลาดที่ใหญ่มาก ด้านเครือข่าย ThaiTECT หนุนใช้นวัตกรรมเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจ ลดนำเข้าจากต่างประเทศ
ปิดฉากไปแล้วอย่างงดงามสำหรับการประชุม ThaiTECT 2015 งานประชุมที่เป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายนักวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย นักวิจัย และสถาบันที่ทำวิจัยMedical Research Network (MedResNet) คณะกรรมการพิจารณาจริยธรรมการวิจัยในคน (Ethics Committee,EC / Institution Review Board, IRB) หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลการศึกษาวิจัย (Regulatory Authority) ผู้ให้ทุนวิจัย (Sponsor) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องตลอดสายการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือมุ่งมั่นให้ประเทศไทยเป็นเลิศในการศึกษาวิจัยทางคลินิก ตลอดจนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตยา วัคซีน ชุดตรวจและเครื่องมือแพทย์ เพื่อสามารถส่งออกสู่ตลาดโลกได้ โดยปีนี้ กำหนดหัวข้อในการประชุมคือ "จากจุดเริ่มต้นแห่งการค้นพบทางการแพทย์ สู่การวิจัยในมนุษย์" และมี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นเจ้าภาพหลัก ร่วมกับ สถาบันวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีชั้นสูง (THAIST/สวทน.) และคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม. มหิดล
ดร.นเรศ ดำรงชัย ผอ.TCELS กล่าวว่า สิ่งที่วิทยากรผู้เข้าร่วมประชุมได้สะท้อน แลกเปลี่ยนข้อมูลและมุมมองกันในการประชุม ThaiTECT นั้น มีประโยชน์มาก โดยเฉพาะในบทบาทของผู้คุมกฎอย่าง อย. เราได้รับเกียรติจากนายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการ อย. มาวิเคราะห์ถึงสถานการณ์วิจัยทางคลินิกของประเทศไทยว่า เวลานี้การพัฒนาชีวเภสัชภัณฑ์มีอัตราการเติบโตสูง หลายตัวกำลังจะหมดสิทธิบัตร แต่การจะต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์นั้นต้องลงทุนสูง อย.จึงต้องปรับตัวให้ทันกับเรื่องของการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะการเตรียมความพร้อมของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการใช้ยาสมุนไพรและการแพทย์สนับสนุนของประเทศพัฒนาแล้วว่า มีมูลค่าสูงกว่าประเทศไทยที่ยังคงใช้ยาแผนปัจจุบันเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมการแพทย์พยายามผลักดันให้มีการพัฒนาต่อยอดและการขึ้นทะเบียนสมุนไพรในประเทศไทยเพิ่มขึ้น ควบคู่ไปกับการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา เพื่อทดแทนการนำเข้า ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี
ผอ.TCELS กล่าวว่า ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งที่ประชุมได้หยิบยกมาพูด โดยเฉพาะมุมมองจากองค์การอนามัยโลก คือระบบการผลิตวัคซีนในรูปแบบใหม่จะมีผลต่อต้นทุนการผลิต เช่นการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่โดยใช้เทคนิคเพาะเลี้ยงเซลล์จะมีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่าการผลิตด้วยไข่ไก่ฟัก เช่นเดียวกับจำนวนอาสาสมัครในขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนก็เป็นส่วนที่ทำให้ต้นทุนในการผลิตวัคซีนสูงขึ้น สอดคล้องกับมุมมองจากภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตวัคซีนรายใหญ่ ยอมรับว่าการทำการวิจัยวัคซีนต้องใช้ระยะเวลานานและมีค่าใช้จ่ายในการทดสอบสูง
ในงานเดียวกันนี้ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้กล่าวถึงเป้าหมายของการวิจัยว่า ต้องการผลิตเพื่อลดการนำเข้า ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ สนับสนุนให้เกิดการใช้นวัตกรรมภายในประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้ภาครัฐจัดซื้ออย่างน้อย 10% ส่วนเป้าหมายสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ มุ่งเน้นส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวข้องกับ จีโนม สเต็มเซลล์ การรักษาโรคเฉพาะบุคคล หน้าที่ของวช. มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากร พัฒนาระบบวิจัยในคนให้เป็นเลิศทางวิชาการ มุ่งเน้นส่งเสริมโครงการที่เกี่ยวข้องกับ จีโนม สเต็มเซลล์ การรักษาโรคเฉพาะบุคคล ตลอดจนพัฒนาระบบส่งเสริม สนับสนุนและตรวจสอบให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว คุณภาพดี เป็นไปตามมาตรฐาน กฎ ระเบียบครบวงจร และต้นทุนมีความเหมาะสม ซึ่ง วช.ยังคงหลักการมุ่งเน้นพัฒนาบุคลากร พัฒนาระบบวิจัยในมนุษย์ให้เป็นระบบ โดยขณะนี้ พรบ.การวิจัยในคนอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนกฤษฎีกา เพื่อให้การทำวิจัยต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการจริยธรรมก่อน ส่วน พรบ.การวิจัยในสัตว์ทดลองประกาศออกมาแล้ว และในอนาคตจะมีการพัฒนาให้การวิจัยกับกลุ่มคลัสเตอร์โดยมุ่งเป้าไปที่พัฒนาบุคลากร โดยสิ่งที่อยากเห็นในอนาคตคือการพัฒนาฐานข้อมูลการวิจัยในมนุษย์อย่างเป็นระบบ ระเบียบ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อไป
ดร.นเรศ กล่าวว่า ที่ประชุม ยังได้หยิบยกประเด็นเรื่องการสนับสนุนงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาของรัฐบาล ดังนั้นเครือข่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะมุ่งพัฒนาในด้านใดบ้าง โดยได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มว่า ภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาด้านชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งหมายถึงเวชภัณฑ์ หรือยาที่ ถูกผลิตขึ้นจากสิ่งมีชีวิตด้วยกระบวนการเทคโนโลยีชีวภาพ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากกูรูด้านการร่วมทุนในรูปแบบของ Venture Capital ที่มาชี้ให้เห็นโอกาสและข้อแนะนำเพื่อลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ และแนวโน้มสุขภาพของประชากรโลก อาทิ การเชื่อมต่อสุขภาพไปยังเทคโนโลยีใกล้ตัวเช่น การรวม ข้อมูลการตรวจวินิจฉัยเลือด ความดันเลือด การตรวจคลื่นหัวใจ ฯลฯ ไว้ในมือถือ ข้อมูลการรักษาโรคเฉพาะบุคคล เช่น สเต็มเซลล์ เพื่อการรักษาโรคเบาหวาน การรักษาโรคพาร์กินสัน อัลไซเมอร์ เป็นตลาดที่ใหญ่มาก รวมถึง สถานการณ์ของโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อ เช่น ไวรัสเมอร์ส ไข้หวัดใหญ่ มาลาเรีย วัณโรค เอชไอวี วิกฤติการณ์การดื้อยาปฏิชีวนะ ทั้งนี้จะนำ ผลที่ได้จาก การประชุมไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ตั้งแต่จุดเริ่มต้นแห่งการค้นพบทางการแพทย์ สู่การวิจัยในมนุษย์ พร้อมขึ้นทะเบียนและนำสู่ตลาดเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร
ในแต่ละปีนั้น หน่วยงานในเครือข่าย ThaiTECT จะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดประชุม โดยในปีหน้า ThaiTECT 2016 เป็นวาระของคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล