กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--พีอาร์ดีดี
นายสมิทธ์ พนมยงค์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมจ่ายเงินปันผลกองต่างประเทศภายใต้การบริหารงาน ได้แก่ กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรป (SCBEUEQ) สำหรับรอบผลการดำเนินงานระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ - 31 กรกฎาคม 2558 ในอัตรา 0.14 บาทต่อหน่วย โดยปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหน่วยลงทุนเพื่อรับสิทธิการจ่ายเงินปันผลวันที่ 11 สิงหาคม 2558 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหน่วยในวันที่ 24 สิงหาคม 2558 นี้ซึ่งที่ผ่านมาได้จ่ายเงิน
ปันผลไปแล้ว 2 ครั้ง
สำหรับกองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปมีผลการดำเนินงานตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 อยู่ที่ 15.84% และนับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 อยู่ที่ 20.20%ทั้งนี้กองทุนเปิดไทยพาณิชย์หุ้นยุโรปเป็นกองทุนต่างประเทศที่มีนโยบายการลงทุนใน หน่วยลงทุนของกองทุนรวมต่างประเทศเพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ได้แก่ iShares STOXX Europe 600 (DE) (กองทุนหลัก) ซึ่งเป็นกองทุนประเภท Exchange Trade Fund ที่ซื้อขายบนตลาดหลักทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายของประเทศเยอรมนี และอยู่ภายใต้ UCITSบริหารงานภายใต้การควบคุมดูแลของ BlackRock Asset Management Deutschland AG ซึ่งลงทุนในสกุลเงินยูโร
นายสมิทธ์ กล่าวว่า ดัชนี STOXX Europe 600 เป็นดัชนีที่เน้นลงทุนในหุ้น 600 ตัวของกลุ่มประเทศยุโรปที่พัฒนาแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เยอรมัน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศหลักที่ได้รับประโยชน์จากการที่เศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัว โดยบลจ.ไทยพาณิชย์มองว่า นับจากนี้ตลาดหุ้นยุโรปยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากมีแนวโน้มเป็นบวกจากการปรับตัวดีขึ้นของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของธนาคารกลางยุโรป (ECB) อีกทั้งคาดว่าเงินลงทุนจะยังเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดหุ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยในยุโรปปรับตัวลงมาสู่ระดับที่ต่ำมากส่งผลให้ผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นมีความน่าสนใจสูงกว่า
นอกจากนี้ ผลการสำรวจผู้จัดการกองทุนในเดือนกรกฎาคมของแบงก์ ออฟ อเมริกา เมอร์ริลล์ ลินช์ เมื่อเร็วๆ นี้ ยังพบว่า ผู้จัดการกองทุนกว่า 40% ยังคงให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นยุโรปมากขึ้น (Overweight) ขณะที่ค่าเฉลี่ยเป้าหมายดัชนี STOXX Europe 600 ณ ปลายปี 2558 อยู่ที่ 440 จุด หรือคิดเป็น Upside ที่ 11% (ดัชนี อยู่ที่ระดับ 396.37 ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558) อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องจับตา ได้แก่ ปัญหาเชิงโครงทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น กรีซ โปรตุเกต ไอร์แลนด์ สเปน และอิตาลี ที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่ำและการว่างงานสูง แต่คาดว่าปัญหาดังกล่าวจะยังไม่ลุกลามเป็นวิกฤตครั้งใหม่เนื่องจากปัจจุบันธนาคารกลางยุโรป และรัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ มาเพื่อประคับประคองสถานการณ์อยู่แล้ว