กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--มาสเตอร์โพลล์
มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง วิกฤตเกษตรกรไทยจากภัยแล้ง: กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง วิกฤตเกษตรกรไทยจากภัยแล้ง : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,075 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 7-9 สิงหาคม 2558
ผลสำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนกรณีปัญหาวิกฤตที่สร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรไทยมากที่สุดในขณะนี้พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 37.3 ระบุปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตร รองลงมาคือร้อยละ 19.8 ระบุการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร ร้อยละ 16.7 ระบุผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาอุทกภัย/น้ำท่วม ร้อยละ 13.8 ระบุปัญหาหนี้สิน ร้อยละ 4.0 ระบุไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง ร้อยละ 3.3 ระบุผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาภัยแล้ง ร้อยละ 2.5 ระบุขาดรายได้/รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย และร้อยละ 2.4 ระบุไม่มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อทำการเกษตร ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงความต้องการการช่วยเหลือในปัญหาเดือดร้อนต่างๆของเกษตรกรนั้นพบว่า ในประเด็นของการแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรนั้น เป็นสิ่งที่เกษตรต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 86.3 ในขณะที่ร้อยละ 13.7 ระบุยังสามารถรอได้ สำหรับปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรนั้นพบว่า ร้อยละ 82.0 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 18.0 ระบุยังสามารถรอได้ ปัญหาการไม่มีเงินทุนหมุนเวียนทางการเกษตร นั้นพบว่าร้อยละ 81.1 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 18.9 ระบุยังสามารถรอได้ การขาดรายได้/รายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย พบว่าร้อยละ 80.8 ระบุต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 19.2 ระบุยังสามารถรอได้ ในกรณีปัญหาหนี้สินของเกษตรกร นั้นพบว่า ร้อยละ 80.6 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 19.4 ระบุยังสามารถรอได้ กรณีผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาอุทกภัย/น้ำท่วมนั้นพบว่าร้อยละ 80.4 ระบุต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 19.6 ระบุยังสามารถรอได้ ปัญหาไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง พบว่าร้อยละ 69.2 ระบุต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 30.8 ระบุยังสามารถรอได้ และกรณีผลผลิตทางการเกษตรเสียหายจากปัญหาภัยแล้งนั้นพบว่า ร้อยละ 67.8 ระบุต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ในขณะที่ร้อยละ 32.2 ระบุยังสามารถรอได้
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามความคิดเห็นของแกนนำชุมชนเกี่ยวกับความพอเพียงของข้อมูลที่เกษตรกรได้รับจากรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งและปัญหาอุทกภัยนั้น พบว่า ร้อยละ 56.4 ระบุเกษตรกรได้รับข้อมูลเพียงพอแล้ว ในขณะที่ร้อยละ 43.6 ระบุยังไม่เพียงพอ เพราะ ประชาชนยังไม่ทราบข้อมูลที่ชัดเจน/บางพื้นที่ก็ไม่รับรู้อะไรเลย/รัฐบาลยังสื่อสารไม่ชัดเจน ประชาชนรับข่าวสารไม่ทั่วถึง/ช่องทางการให้ความรู้กับประชาชนยังช้า/ไม่ทันการณ์/ส่วนราชการในพื้นที่ยังไม่มีการเผยแพร่ข้อมูลให้เกษตรกร/ข้อมูลข่าวสารมาไม่ถึงเกษตรกร/ประชาชนยังไม่รู้ น่าจะเปลี่ยนวิธีการนำเสนอข้อมูลด้วยวิธีอื่น/รัฐบาลต้องกระจายข้อมูลแก่เกษตรกรให้ทั่วถึงและต่อเนื่อง
นอกจากนี้เมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบต่อไปถึงการยอมรับได้ หากเกษตรกรจะต้องงดทำการเกษตร/การเพาะปลูกในปีนี้ อันเนื่องมาจากปัญหาภัยแล้งและการขาดแคลนน้ำนั้นพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 56.6 ระบุสามารถยอมรับได้ โดยให้เหตุผลสามารถสรุปได้ว่า เป็นภัยธรรมชาติต้องยอมรับ/เป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล เชื่อมั่นว่ารัฐบาลต้องมีทางออกที่ดี ที่ทำให้ชาวเกษตรกรไม่ขาดรายได้ เป็นวิกฤติแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เกษตรกรต้องหาทางช่วยเหลือตัวเองด้วย / ไม่ใช่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรก เกษตรมีประสบการณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม แกนนำชุมชนร้อยละ 43.4 ระบุไม่สามารถยอมรับได้ เพราะเป็นอาชีพหลักของชาวบ้านไม่รู้จะทำมาหากินอะไร เกษตรกรต้องทำการเกษตรเพื่อการดำรงชีวิต ไม่มีอาชีพรองรับ ประชากรส่วนมากทำการเกษตรต้องการทำการเกษตรเพื่อชำระหนี้สิน ลำบากมาก ขาดแคลนรายได้ ไม่มีอาชีพเสริม ตามลำดับ
สำหรับความคิดเห็นของแกนนำชุมชนกรณีสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร หากจำเป็นจะต้องงดทำการเกษตร/เพราะปลูกในปีนี้นั้นพบว่า ร้อยละ 51.5 ระบุรัฐบาลต้องมาลงพื้นที่คุยกับประชาชนหรือเกษตรกร/รัฐบาลต้องลงมาให้การช่วยเหลือเยียวยาดูแลเกษตรกร /รัฐบาลลงไปแก้ไขโดยตรง รองลงมาคือร้อยละ 20.1 ระบุขุดเจาะบ่อบาดาลหรือสระ / เพิ่มแหล่งน้ำ /จัดหาแหล่งน้ำให้เกษตรกรให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ /จัดให้มีที่กักเก็บน้ำทุกหมู่บ้าน / ต้องสร้างระบบชลประทานที่ดี /แก้ไขระบบระบายน้ำ /ขุดแก้มลิงกักเก็บน้ำ ร้อยละ 19.1 ระบุรัฐบาลต้องให้การช่วยเหลือทั้งระบบ ได้แก่ หาอาชีพเสริมให้เกษตรกรเพื่อทดแทนอาชีพเดิม และมีตลาดรองรับ /สร้างรายได้ สร้างงานให้กับประชาชน /แจกเมล็ดพันธุ์พืชให้กับเกษตรกร /ปลูกพืชทดแทน ร้อยละ 13.7 ระบุสนับสนุนงบประมาณให้กับเกษตรกร /หาเงินทุนมาช่วยเหลือ /จัดหาแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ร้อยละ 10.3 ระบุแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร /ลดหนี้ ลดดอกเบี้ยให้แก่เกษตรกร /การพักหนี้เกษตรกร /ชะลอการใช้หนี้ ธกส. ร้อยละ 5.9 ระบุหาวิธีหรือแนวทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและแนวทางการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนทำอย่างจริงจัง /ให้ความรู้ใหม่ๆ กับเกษตรกร /แก้ไขให้ตรงกับปัญหาของแต่ละจังหวัด / รับฟังปัญหาของประชาชน ในขณะที่ร้อยละ 2.1 ระบุส่งเสริมให้ใช้น้ำอย่างประหยัด /ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้น้ำน้อยลง /ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ มีโครงการเลี้ยงวัว ควายทดแทน
ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของรัฐบาลนั้น พบว่า มาตรการที่ระบุว่ามีการดำเนินงานแล้วได้แก่ การจัดทำทะเบียนเกษตรกร แก้ปัญหาหนี้สินเกษตรกร (ร้อยละ 89.2) การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์ ไร่นาสวนผสม (ร้อยละ 78.3) การส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้ที่จำเป็นให้เกษตรกร (ร้อยละ 75.8) มาตรการในการลดต้นทุนการผลิต เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร (ร้อยละ 71.9) นอกจากนี้ร้อยละ 68.2 ระบุมีการดำเนินงานในด้านการส่งเสริมสหกรณ์ สร้างชุมชนเข้มแข็ง สร้างตลาดชุมชนในท้องถิ่น ร้อยละ 60.2 ระบุมีการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร แก้ไขปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ร้อยละ 54.5 ระบุการจัดโซนนิ่งการเกษตร และการจัดสรรพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสม ในขณะที่ร้อยละ 46.1 ระบุมีการจัดตั้งธนาคารปุ๋ย และศูนย์เมล็ดพันธ์ในทุกชุมชนแล้ว ตามลำดับ
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อคณะผู้วิจัยได้สอบถามถึงการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านี้พบว่า ร้อยละ 28.9 ระบุเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น ร้อยละ 27.1 ระบุดีเหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 19.4 ระบุเดือดร้อนเหมือนเดิม และร้อยละ 24.6 ระบุเดือดร้อนมากกว่าเดิม ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจที่มีต่อการดำเนินงานตามมาตรการสำคัญเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรนั้นพบว่า มาตรการส่งเสริมโครงการตลาดชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและสินค้าชุมชนมีคะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยสูงที่สุดเท่ากับ 7.38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือ การจัดโซนนิ่ง (zoning) พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรให้เหมาะสม ได้ 7.24 คะแนน การบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง ได้ 7.19 คะแนน สำหรับการสร้างงานในพื้นที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง นั้นได้คะแนนความพึงพอใจเฉลี่ยเท่ากับ 6.90 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ตามลำดับ
คุณลักษณะทั่วไปของแกนนำชุมชนผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 91.1 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 8.9 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 4.8 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 24.5 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 70.7 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 32.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 40.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 6.0 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 22.0 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 91.2 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 4.3 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ ร้อยละ 4.5 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัวพบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 22.0 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 19.5 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.0 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 34.5 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ