กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ม.ธรรมศาสตร์
นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนกุล รองเลขาธิการ ก.พ.ร. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ก.พ.ร. เปิดเผยว่า พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากที่กฎหมายมีผลบังคับใช้แล้วนั้น ประชาชนจะได้รับความสะดวกในการติดต่อราชการตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
ความสะดวกในการติดต่อราชการนี้ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐกับสำนักงาน ก.พ.ร. ในการจัดทำ "คู่มือสำหรับประชาชน" ที่เป็นเสมือนคัมภีร์ในการติดต่อราชการ ทำให้ประชาชนได้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาตต่างๆ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐได้เตรียมการจัดทำมาตั้งแต่วันที่กฎหมายดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา รวมทั้ง ได้ปรับวิธีการให้บริการให้สอดคล้องกับกฎหมายดังกล่าว เช่น มุ่งให้บริการประชาชนภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ในคู่มือ แต่หากไม่สามารถให้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ได้ จะต้องแจ้งให้ผู้ยื่นคำขอทราบถึงเหตุผลของความล่าช้าทุกๆ 7 วันจนกว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมสำเนาการแจ้งสำเนาดังกล่าวมายัง ก.พ.ร. ด้วย
นายพงษ์อาจ ตรีกิจวัฒนกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐได้ปรับปรุงให้สอดคล้องกับกฎหมายอีกประเด็นหนึ่ง คือ เมื่อประชาชนไปยื่นคำขอกับเจ้าหน้าที่แล้ว จะได้ทราบในทันทีว่าคำขอและเอกสารหลักฐานที่ยื่นครบถ้วนหรือไม่ และหากไม่ครบถ้วนต้องการอะไรเพิ่มเติม จะได้รับแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้มีความชัดเจนและช่วยลดปัญหาไม่ต้องมายื่นเอกสารหลายครั้ง เหมือนที่หลายท่านอาจจะเคยประสบปัญหามาบ้างแล้ว จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างมิติใหม่ในการให้บริการประชาชน
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือการปรับการทำงานของหน่วยงานภาครัฐเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนตามกฎหมายใหม่ฉบับนี้ ซึ่งในระยะแรกนั้น หน่วยงานภาครัฐอาจจะต้องอาศัยเวลาที่จะดำเนินการให้ได้ตามที่ประชาชนคาดหวังไว้ เพื่อสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน แต่อย่างไรก็ตาม การมารับบริการภาครัฐจะรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วย หากประชาชนได้ศึกษาข้อมูลจากคู่มือสำหรับประชาชนเพื่อเตรียมพร้อมก่อนมารับบริการ โดยสามารถค้นหาคู่มือสำหรับประชาชน ได้ที่ www.info.go.th ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) จัดทำขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลในการติดต่อราชการ และหากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1111 ต่อ 22 หรือติดต่อศูนย์อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ ที่ตึก ก.พ. (เดิม) ถนนพิษณุโลก กรุงเทพฯ