กรุงเทพฯ--16 ส.ค.--นิด้าโพล
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "การปรองดองและรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 13 – 14 สิงหาคม 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป กระจายทั่วทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,256 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการปรองดองและรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ "นิด้าโพล" ด้วยความน่าจะเป็นด้วยวิธีแบบเป็นระบบ (Systematic Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนด ค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มี กรรมการยุทธศาสตร์ และการปรองดองแห่งชาติ ที่มีอำนาจเหนือรัฐบาล ในการจัดการกับสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง ที่ยากต่อการควบคุมและอาจนำไปสู่ความรุนแรง ให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.93 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ต้องการเห็นความปรองดองและสมานฉันท์ของคนในชาติ และต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข จะได้มีกลไกในการขจัดความขัดแย้ง ซึ่งควรแยกออกมาเป็นองค์กรอิสระจากรัฐบาล และน่าจะมีความเด็ดขาดมากกว่ารัฐบาล ขณะที่ ร้อยละ 25.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เป็นการทำงานที่เกินความจำเป็นและซ้ำซ้อนกับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลทำงานได้ไม่เต็มที่ กลายเป็นแทรกแซงการทำงานของรัฐบาล มีรัฐบาลฝ่ายเดียวคอยแก้ไขก็น่าจะเพียงพอแล้ว ทำไปก็เท่านั้น ซึ่งสถานการณ์ไม่ได้วุ่ยวายขนาดนั้น ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและร้อยละ 11.07 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อข้อเสนอให้ทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนว่า จะให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศต่อไปอีก 4 ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 75.80 ระบุว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอการทำประชามติ เพราะ ประชาชนจะได้มีส่วนร่วม และจะได้รู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความคิดเห็นอย่างไรและต้องการให้มีหน่วยงานเฉพาะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ เพราะต้องการเห็นความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งและความวุ่นวายอีก รองลงมา ร้อยละ 19.03 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอการทำประชามติ เพราะ เป็นการเสียเวลาและสิ้นเปลืองงบประมาณ และยังไม่มีความชัดเจน เป็นการใช้คะแนนเสียงของการทำประชามติมาเป็นข้ออ้างในการสืบทอดอำนาจ และอาจเป็นสาเหตุของความวุ่นวายที่จะตามมาภายหลัง และร้อยละ 5.17 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการลงมติของประชาชน หากวันนี้มีการทำประชามติ ถามความเห็นประชาชนว่า จะให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศต่อไปอีก 4 ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.63 ระบุว่า จะลงมติเห็นด้วยกับการมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพราะ น่าจะมีตัวกลางที่เข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และมีส่วนช่วยในการปฏิรูปประเทศชาติให้ดีขึ้น เกิดความสงบสุขแบบยั่งยืน อีกทั้งต้องการรักษาสิทธิในการออกเสียงของประชาชน ขณะที่ ร้อยละ 12.66 ระบุว่า จะลงมติไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพราะ ไม่มีความจำเป็นที่ต้องมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ และยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้จริงหรือไม่ และระยะเวลา 4 ปีนั้น ค่อนข้างที่จะนานไป หากเป็นระยะ 1 – 2 ปี ก็น่าจะเห็นด้วยมากกว่า ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ควรจัดการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วที่สุด ร้อยละ 20.30 ระบุว่า จะลงมติไม่ออกความเห็น ร้อยละ 7.01 ระบุว่า จะไม่ไปลงมติ และร้อยละ 7.40 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 16.24 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ร้อยละ 17.83 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 18.07 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.92 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.93 ภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.03 เป็นเพศชาย ร้อยละ 46.82 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.16 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 5.97 มีอายุ น้อยกว่า 25 ปี ร้อยละ 19.98 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 26.67 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 35.75 มีอายุ 46 – 60 ปี ร้อยละ 10.59 มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 94.75 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.42 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.72 นับถือศาสนาคริสต์และอื่น ๆ และร้อยละ 1.11 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 22.45 สถานภาพโสด ตัวอย่างร้อยละ 74.60 สมรสแล้ว ตัวอย่างร้อยละ 1.43 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.51 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส
ตัวอย่างร้อยละ 26.67 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 26.59 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.76 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 29.78 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ตัวอย่างร้อยละ 6.85 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุการศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 13.77 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ตัวอย่างร้อยละ 13.22 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ตัวอย่าง ร้อยละ 26.59 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ตัวอย่าง ร้อยละ 15.45 ประกอบอาชีพ เกษตรกร/ประมง ตัวอย่างร้อยละ 14.01 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ตัวอย่างร้อยละ 13.06 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ตัวอย่างร้อยละ 2.23 เป็นนักเรียน/นักศึกษา และร้อยละ 1.67 ไม่ระบุอาชีพ ตัวอย่าง ร้อยละ 12.74 ไม่มีรายได้ ตัวอย่าง ร้อยละ 20.78 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 ตัวอย่าง ร้อยละ 31.05 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 ตัวอย่างร้อยละ 12.66 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ตัวอย่างร้อยละ 6.61 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 ร้อยละ 8.44 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาท ขึ้นไป และร้อยละ 7.72 ไม่ระบุรายได้