กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเจ๋งประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยสื่อสารทางใบหน้าสำหรับผู้ป่วยอัมพาต ที่สำคัญราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์อื่น สามารถใช้อุปกรณ์ช่วยสื่อสารในลักษณะที่ใกล้เคียงกันได้ดีเหมือนกัน
ปัจจุบันสังคมไทยกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวมากกว่าครอบครัวขยาย ผู้สูงอายุในปัจจุบันและในอนาคตมีแนวโน้มที่จะอยู่ลำพังหรือหากอยู่กับครอบครัวก็มักเป็นครอบครัวเดี่ยวที่สมาชิกคนอื่นต้องทำงาน และผู้สูงอายุต้องอยู่บ้านคนเดียว ซึ่งในประเด็นนี้เองจะทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่อง คือ การขาดผู้ดูแลผู้สูงอายุที่เป็นคนในครอบครัว และถ้าผู้สูงอายุนั้นป่วยเป็นอัมพาตแล้ว ยิ่งจะทำให้อยู่อย่างยากลำบากโดยจะเห็นว่าผู้ป่วยในกลุ่มที่เป็นอัมพาต เกือบทั้งหมดจะไม่สามารถที่จะสื่อสารได้ด้วย ทั้งการพูด และเขียน ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ในการสื่อสารกับผู้ที่ดูแล ญาติ หรือแพทย์ ให้สามารถเข้าใจถึงสิ่งที่ผู้ป่วยต้องการได้ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วย จากสาเหตุดังกล่าวนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ประกอบด้วยนายรัฐพล เมืองสุวรรณ นาย นครินทร์ โมกขาว นายธีรุตม์ ชัยชนะลาภและนายวีระพันธ์ ดาวเดชา จึงได้มีการคิดค้นและประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยในการสื่อสารสำหรับผู้ป่วยโรคอัมพาตในประเทศไทย ให้สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจในการดำรงชีวิตอยู่ต่อไปอย่างมีความหวัง และมีคุณค่าที่จะทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้อีกครั้งหนึ่ง โดยมี ผศ.ดร.สุพจน์ สุขโพธารมณ์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมมัลติมีเดียและระบบอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
นายนครินทร์ โมกขาว นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ หนึ่งในเจ้าของผลงานกล่าวว่า ได้นำความรู้ที่เรียนมาด้านวิศวกรรมมาประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นระบบและมีประโยชน์โดยสร้างเครื่องมือนี้เพื่อเพิ่มโอกาสการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและผู้เกี่ยวข้องและยังสามารถช่วยลดปัญหาการสูญเสียสถานภาพทางสังคมของผู้ป่วยได้อีกวิธีหนึ่ง อุปกรณ์ช่วยสื่อสารทางใบหน้าสำหรับผู้ป่วยอัมพาต มีการทำงาน คือ จะมีกล้องสำหรับตรวจจับการเคลื่อนไหวของใบหน้า และมีซอฟต์แวร์ภาษาไทยรองรับการใช้งานให้กับผู้ป่วย โดยมีฟังก์ชันต่างๆ ให้เลือกใช้งาน เช่น ฟังก์ชันข้อความช่วยเหลือ ฟังก์ชันแป้นพิมพ์ เป็นต้น เมื่อผู้ป่วยเลือกข้อความที่ต้องการจะสื่อสารกับผู้ดูแลจากฟังก์ชันต่างๆ แล้ว ระบบจะทำการส่งข้อความไปโพสต์ไว้ยัง Facebook สำหรับผู้ป่วย ให้ผู้ดูแลหรือญาติของผู้ป่วยได้รับทราบและสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันท่วงที อุปกรณ์ช่วยสื่อสารทางใบหน้าสำหรับผู้ป่วยอัมพาตมีจุดเด่นอยู่ที่สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนให้แก่ผู้ดูแลหรือญาติผู้ป่วยได้ทางระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ซึ่งเป็นเว็บไซต์โซเชียลมีเดียที่คนไทยใช้มากที่สุด ถือเป็นช่องทางการสื่อสารที่ดีสำหรับผู้ป่วยและผู้ดูแล นอกจากนี้ยังมีข้อดีในเรื่องของราคาที่ถูกกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ทำให้คนไทยบางส่วนที่กำลังทรัพย์ไม่มากพอที่จะซื้ออุปกรณ์ที่ราคาแพงมากได้ สามารถมีอุปกรณ์ช่วยสื่อสารในลักษณะที่ใกล้เคียงกันกับอุปกรณ์มาใช้งานได้ ขนาดของผลงานมีความสูงสามารถปรับได้ 170 – 210 เซนติเมตร ความกว้าง 30 เซนติเมตร ความยาว 60 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 4 กิโลกรัม