กรุงเทพฯ--17 ส.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมจัดใหญ่ประชุมกลุ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการวิเคราะห์แร่และอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (A Symposium on Synchrotron Technology for Gemology and Mineralogy
Applications: SLRI - GeM Synposium 2015) ระหว่างวันที่ 6 - 8 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หวังสร้างเครือข่ายงานวิจัยด้านอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอนขั้นสูง อันนำไปสู่การพัฒนาสินค้า สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ให้มีคุณภาพในระดับสากล ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า "อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย เป็นอุตสาหกรรมที่สามารถสร้างรายได้และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยอันดับที่ 4 มีสัดส่วนเฉลี่ยต่อ GDP อยู่ราวร้อยละ 3.45 และมีจำนวนแรงงานในอุตสาหกรรมกว่า 1.3 ล้านคน การปรับปรุงและพัฒนากลไกของรัฐเพื่อเพิ่มศักยภาพในด้านการวิจัยเกี่ยวกับแร่และอัญมณีจะสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกด้วยคุณภาพ สามารถรักษาสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืน มีการปรับตัวและได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง สามารถเตรียมพร้อมต่อการเป็นศูนย์กลางด้านการผลิตและการค้าอัญมณีของประชาคมอาเซียน อีกทั้งยังสามารถพัฒนาและส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าได้ด้วย
สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จึงได้จัดให้มี การประชุมกลุ่มงานวิจัยเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศทางด้านการวิเคราะห์แร่และอัญมณีด้วยเทคโนโลยีแสงซินโครตรอน (A Symposium on Synchrotron Technology for Gemology and Mineralogy Applications: SLRI - GeM Synposium 2015) ร่วมกับการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 41 (วทท. 41) ในระหว่างวันที่ 6-8 พฤศจิกายน 2558 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายงานวิจัยในด้านอัญมณีด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับและพัฒนางานวิจัยทางด้านแร่และอัญมณีโดยการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอน อันจะนำมาซึ่งองค์ความรู้ ความเข้มแข็งทางด้านวิชาการ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนผลงานการวิจัยที่นำไปสู่การประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสินค้าเศรษฐกิจที่สร้างรายได้และมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยได้ในอนาคต"
ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ประธานกรรมการจัดการประชุมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า "เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ชนิดของอะตอมที่มีปริมาณอยู่น้อยและโครงสร้างของสารประกอบได้อย่างละเอียด ทำให้ทราบถึงองค์ประกอบของธาตุและโครงสร้างสารประกอบต่างๆ ที่ส่งผลต่อสีของแร่และอัญมณี รวมถึงการนำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ สำหรับการศึกษากระบวนการที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับสำหรับการพัฒนาคุณภาพของอัญมณีแต่ละชนิดอีกด้วย
สถาบันฯ เล็งเห็นความสำคัญของงานวิจัยทางด้านอัญมณี โดยได้เริ่มสนับสนุนทำการค้นคว้าและวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมอัญมณีไทยจากโครงการพัฒนาคุณภาพไข่มุก ซึ่งประสบความสำเร็จในการระบุธาตุที่เป็นองค์ประกอบสำคัญในกลไกการเปลี่ยนสีของไข่มุก ได้นำมาสู่นวัตกรรมการวิจัยเพื่อผลิตไข่มุกสีทองด้วยแสงซินโครตรอน รวมถึงการสร้างลวดลายบนไข่มุกด้วยแสงซินโครตรอน จนกระทั่งสามารถจดสิทธิบัตรได้ 2 ฉบับ จากผลการค้นพบดังกล่าวถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของวงการอัญมณี สามารถสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ไปในวงกว้าง นอกจากงานวิจัยด้านไข่มุกโดยการใช้เทคโนโลยีแสงซินโครตรอนแล้ว ทีมวิจัยได้ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อหวังให้เกิดกลุ่มงานวิจัยที่มุ่งเป้าในการพัฒนาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ ในการศึกษาตรวจวัด วิเคราะห์ตรวจสอบ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงวิชาการด้านอัญมณี ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าของอัญมณีที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยต่อไป ทั้งนี้สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมงานประชุม GeM Symposium 2015 ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 21 สิงหาคม 2558 ที่ http://beamapp.slri.or.th/ และสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.slri.or.th/gem2015 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 0-4421-7040 ต่อ 1603 "