กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--ธนาคารกสิกรไทย
ความก้าวหน้าของนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้การค้าระหว่างประเทศผ่านดิจิตอล แพลทฟอร์ม (Digital Platform) หรือ อีคอมเมิร์ซ (E-commerce) เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดการณ์กันว่า ในปี 2025 การค้าขายผ่าน E-Commerce ทั่วทั้งโลก จะมีมูลค่าถึงสองแสนห้าหมื่นล้านบาท เติบโตขึ้นจากปี 2014 ถึง 3 เท่าตัว ผู้ประกอบการไทยจะต้องตระหนักและยอมรับการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้ออย่างทันท่วงที จึงจะสามารถยืนหยัดอย่างมั่นคงในตลาดส่งออกที่มีการแข่งขันสูงได้
“ธนาคารกสิกรไทย ในฐานะผู้นำดิจิตอลแบงกิ้ง เห็นความสำคัญของผู้ประกอบการไทย ซึ่งเป็นเหมือนฟันเฟืองในระบบอีคอมเมิร์ซที่ธนาคารมุ่งมั่นสนับสนุนให้เติบโตอย่างมั่นคง จึงได้ร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งในระดับประเทศและระดับโลก จัดงานสัมมนา “รุกธุรกิจไร้พรมแดนบน Digital Platform กับ KBank” เพื่อให้ผู้ประกอบการเห็นภาพรวมในการดำเนินธุรกิจออนไลน์ ตั้งแต่การทำการตลาด การขายและการจัดส่งสินค้า ตลอดจนการบริหารเงินทุนหมุนเวียนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้นได้”
นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนา รุกธุรกิจไร้พรมแดนบน Digital Platform กับ KBank ว่า “ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี ปัจจุบันมีผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซอยู่ประมาณ 500,000 ราย และมีคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 14.87 ล้านคน คาดการณ์ว่าในปี 2015 มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซในส่วนของการซื้อขายตรงไปยังผู้บริโภคจะมีสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจัยที่ส่งต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเป็นผลมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต จำนวนการใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงระบบชำระเงินออนไลน์ที่พัฒนาไปอย่างมาก
มร. โธมัส โฮ ผู้จัดการประจำประเทศ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจระดับโลก Alibaba.com ได้เล็งเห็นศักยภาพของตลาดในประเทศไทยจากการเจริญเติบโตในการใช้งานอินเทอร์เน็ตและออนไลน์เป็นอย่างมากจึงได้แต่งตั้งบริษัท ReadyPlanet เป็นตัวแทนในการขายและให้บริการของ Alibaba.com เพื่อให้ผู้ที่สนใจทำธุรกิจบนดิจิตอลแพลทฟอร์ม มีความสะดวกในการติดต่อกันมากขึ้น โดย ReadyPlanet จะให้บริการตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครเป็นสมาชิก ไปจนถึงการประสานงานดูแลให้ธุรกิจของลูกค้าแสดงผลบนหน้าเว็บไซต์ Alibaba.com อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการทำธุรกิจ แบบไม่มีขีดจำกัด
โดย บุรินทร์ เกล็ดมณี ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ เรดดี้แพลนเน็ต ตัวแทนอาลีบาบาดอทคอมในประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ จะต้องมีหลากหลายแพลทฟอร์ม เพื่อวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน อาทิ มีเว็บไซต์ เพื่อยืนยันตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือ ใช้เฟซบุ๊ค เพื่อเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย รวมถึงเป็นช่องทางการติดต่อพูดคุยกับลูกค้าเพื่อสร้าความสัมพันธ์อันดี นอกจากนี้หากมีการเปิดตัวธุรกิจในอาลีบาบาดอทคอมซึ่งเป็นเว็บไซต์ขายส่งชั้นนำของโลก ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ทำให้ผู้สนใจจากทั่วโลกเดินเข้ามาหาเราง่ายขึ้น
แฮเรียท ชู กรรมการผู้จัดการ ไทย เอ้า ฉี ฟรุ๊ตส์ ผู้มีประสบการณ์การใช้งานอาลีบาบาดอทคอมในการเปิดตลาดในจีน กล่าวว่า หลังจากที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของอาลีบาบาดอทคอม ลูกค้าเดินเข้ามาหาเรามากขึ้น ถือเป็นการขยายช่องทางธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากทีเดียว โดย 60%ของลูกค้าปัจจุบันมาจากอาลีบาบาดอทคอม ซึ่งตลาดจีนเป็นตลาดที่ใหญ่มาก และยังมีความต้องการสินค้าประเภทผลไม้สูง เคล็ดลับในการดึงดูดลูกค้าคือ การอัพเดทสินค้าอยู่ตลอดเวลา สื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง หากมีการสอบถามเข้ามา ก็ตอบลูกค้าให้รวดเร็ว เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้า และสร้างความน่าเชื่อถือในกลุ่มลูกค้าอีกด้วย
อีกหนึ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่รู้จัก คือ แกร็บแท็กซี่ แอพพลิเคชั่น ที่ให้บริการรถแท็กซี่ที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ซึ่ง จุฑาศรี คูวินิชกุล ผู้อำนวยการ แกร็บแท๊กซี่ (ประเทศไทย) กล่าวถึงเคล็ดลับความสำเร็จว่า จะต้องมีการค้นคว้าหาข้อมูล ทดลองการใช้งานจริง เพื่อให้ตอบสนองความต้องการลุกค้าสูงสุด และที่สำคัญคือการกำหนดกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อหาพันธมิตรในการทำธุรกิจร่วมกัน ให้ประสบความสำเร็จสูงสุด
เฟซบุ๊กคือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการสร้างการรับรู้และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ทวีภัทร โอภารัตน์ ผู้จัดการบัญชี กลุ่มเอสเอ็มบี เฟซบุ๊ก ประเทศไทย เปิดเผยว่า การใช้งานเฟซบุ๊กในแง่ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ สามารถแบ่งได้ 3 ระดับคือ การสร้างการรับรู้ การค้นคว้าหาข้อมูล และการปิดการขาย โดยมีตัวเลขการใช้งานที่น่าสนใจในแต่ละขั้นตอนคือ ผู้ใช้งานสามารถรับรู้แบรนด์จากเฟซบุ๊กกว่า 60% ใช้หาข้อมูลตลาด 70% และ 50% เคยซื้อสินค้าจากเฟซบุ๊ก
นอกจากนี้กูเกิล ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือหลักในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ยังได้เปิดเผยเครื่องมือสำคัญของกูเกิลที่จะช่วยผู้ประกอบการที่กำลังเริ่มทำตลาดออนไลน์ อภิชญา เตชะมหพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายพันธมิตรทางธุรกิจ กูเกิล เอเชียแปซิฟิก เล่าให้ฟังว่า “Google Trend” คือเครื่องมือที่เป็นผู้ช่วยมือหนึ่งของผู้ประกอบการหน้าใหม่ ในการค้นหาว่าสินค้าที่ตนเองต้องการขายนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ และกลุ่มเป้าหมายของสินค้าเราคือใคร ซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดในการทำธุรกิจ และทำให้เราสามารถปรับเปลี่ยนแผนการตลาดอย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการตลาด
เมื่อเรามีสินค้าและบริการ รวมถึงช่องทางการขายที่พร้อมแล้ว ในยุคของดิจิตอล เราก็ไม่จำเป็นต้องเก็บสต็อกและส่งของเองอีกต่อไป กอสิน ศุภทธิดำรง ผู้จัดการการตลาดออนไลน์และการบัญชี ชิปยัวส์ดอทคอม กล่าวว่า ชิปส์ยัวร์ดอทคอมให้บริการตั้งแต่การเก็บสินค้า ตรวจสอบและคัดกรองสินค้าก่อนจัดส่ง แพคสินค้าและจัดส่ง เรียกได้ว่าเป็นบริการแบบครบวงจร เพื่อช่วยลดต้นทุนให้แก่เจ้าของธุรกิจ
ด้าน ณัฐวุฒิ อารยะประยูร รองผู้จัดการทั่วไป ยูไนเต็ดไทยโลจิสติกส์ กล่าวว่า ในปัจจุบันมีเจ้าของธุรกิจหลายรายต้องการขยับขยายธุรกิจไปสู่วงการนำเข้า-ส่งออก แต่ไม่เชี่ยวชาญด้านเอกสารการดำเนินการ ซึ่งยูไนเต็ดไทยโลจิสติกส์สามารถให้บริการประสานงานต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกและลดความยุ่งยากให้แก่ผู้ประกอบการ
เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ ธนาคารกสิกรไทยได้มีการร่วมมือกับอาลีบาบาดอทคอมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อดั่งใจอีคอมเมิร์ซ สำหรับการซื้อขายผ่าน Alibaba.com หากผู้ประกอบการมีข้อสงสัยหรือต้องการปรึกษาเรื่องการเริ่มต้นทำธุรกิจ ทางธนาคารฯ มีบริการ K-Expert Center ที่อาคารจามจุรีสแควร์ ชั้น 2 หรือสามารถหาข้อมูลเรื่องการทำธุรกิจได้เพิ่มเติมที่ www.askkbank.com/KExpert
การทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป เมื่อเราคิดให้ครบ ตอบโจทย์ให้รอบด้าน เลือกคู่ที่ดีในยุคดิจิตอล โอกาสทางธุรกิจแบบไม่มีที่สิ้นสุด ก็อยู่แค่มือคว้า