กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--OutDoor PR Plus
ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป. สนองแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สานต่อ “โครงการเชิดชูครูช่างศิลปหัตถกรรม 2558” ด้วยการเฟ้นหาสุดยอดครูช่างศิลปหัตถกรรมสาขาต่างๆ จากทั่วประเทศกว่า110 คน โดยคณะกรรมการผู้ทรงวุฒิคัด 20สุดยอดครูช่างแห่งปี เพื่อร่วมเชิดชูผลงานและบทบาท ตลอดจนคุณค่าของครูช่างในฐานะผู้สืบทอดงานศิลปหัตถกรรมและภูมิปัญญาไทยให้ดำรงอยู่สืบไป
นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ ศ.ศ.ป.กล่าวถึงที่มาของ“โครงการเชิดชูครูช่างศิลปหัตถกรรม 2558”ว่า การเชิดชูครูช่างนับเป็นพันธกิจสำคัญของ ศ.ศ.ป. อย่างแท้จริง เพราะครูคือผู้สร้างงานหัตถศิลป์อันเป็นชิ้นงานที่มีศิลปะ มีกระบวนการและแนวคิดของวัฒนธรรมประเพณีที่ปรากฏอยู่บนชิ้นงาน ภายใต้หัวใจสำคัญคือมีการถ่ายทอดหรือส่งผ่านองค์ความรู้นั้นๆ โดย ศ.ศ.ป. ได้เล็งเห็นคุณค่าของครูช่างที่ควรได้รับการยกย่องในฐานะผู้สร้างและสืบทอดงานศิลปหัตกรรมไทย จึงดำเนินโครงการฯ คัดเลือกครูช่างศิลปหัตถกรรมจากสาขาต่างๆ ได้แก่ เครื่องทอ เครื่องจักสาน เครื่องดิน เครื่องไม้ เครื่องรัก เครื่องกระดาษ และอื่นๆ เพื่อเชิดชูเกียรติให้เป็นที่รู้จักในสังคมมากยิ่งขึ้น พร้อมเผยแพร่การนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างความภาคภูมิใจแก่คนรุ่นหลังต่อไป
สำหรับการพิจารณาและคัดเลือกครูช่างในโครงการฯ ซึ่งในปีนี้มีผลงานจากครูช่างเข้าร่วมประกวดมากถึง 110 คน และได้คัดเลือกเป็นสุดยอดครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2558 จำนวน 20 ท่าน ได้แก่ ประเภทเครื่องทอ ได้แก่ 1. ครูพิเชษฎร์ แก้ววรรณะ (ผ้าไหมยกดอก) 2.ครูวินัย ปัจฉิม (ผ้าไหมมัดหมี่) 3.ครูจงจรูญ มะโนคำ (ผ้าซิ่นตีนจก) 4.ครูสำหรับ งานไว (ผ้าไหมมัดหมี่) 5.ครูสุระมนตรี ศรีสมบูรณ์ (ผ้าไหมมัดหมี่) 6.ครูสงคราม งามยิ่ง (ผ้าไหมมัดหมี่) ประเภทเครื่องจักรสาน ได้แก่ 7.ครูจุไรรัตน์ สรรพสุข (เสื่อกกยกลาย) 8.ครูร่อหมาน ขรีดาโอ๊ะ (กรงนกและโคมไฟตีเตบาลี) 9.ครูแก้ว ตาสิงห์ (จักสานใบตาล) 10.ครูสมศรี ไม้ทองดี (เปลเชือกถัก) 11.ครูเกษร บานชล (เสื่อกกลายขิด) ประเภทเครื่องไม้ ได้แก่ 12.ครูเจน นวลสุภา (แกะสลักไม้ 3 มิติ) 13.ครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์ (เครื่องดนตรีไทย) 14.ครูธนเดช บุญนุ่มผ่อง (เรือจำลอง) 15.ครูธงชัย สายแสงจันทร์ (เรือจำลอง) เครื่องกระดาษ ได้แก่ 16.ครูเบญจพล สิทธิประณีต (ตัดฉลุกระดาษ) 17.ครูเปี่ยม ส่งชื่น (กระดาษรังผึ้ง) ประเภทเครื่องดิน ได้แก่ 18.ครูทวี พันธ์ศรี (เครื่องเบญจรงค์) ประเภทเครื่องรัก ได้แก่ 19.ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ (ลงรักประดับมุก) และประเภทพิเศษอื่นๆ ได้แก่ 20.ครูสนั่น บัวคลี่ (กลองแขก) โดยผลงานของครูช่างดังกล่าว ได้ถูกนำมาจัดแสดงภายในงาน “หัตถศิลป์ไทย เทิดไท้องค์ราชินี ครั้งที่ 3” ณ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (ศ.ศ.ป.) อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 8 - 12 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา
ด้าน “ครูเบญจพล สิทธิประณีต”สุดยอดครูช่างสาขาเครื่องกระดาษ ผู้อนุรักษ์และสืบสานศิลปะแบบล้านนาผ่านงานตัดฉลุกระดาษ กล่าวถึงความรู้สึกในการได้เป็น 1 ใน 20 ครูช่าง ว่า รู้สึกภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้รับเลือก เพราะงานกระดาษเป็นหัตถกรรมที่มีอายุงานสั้นคนทั่วไปจึงไม่ค่อยเห็นคุณค่ามากนัก แต่ตนก็ภูมิใจและรักในการสร้างสรรค์ลวดลายด้วยวิธีนี้ ซึ่งต้องผสานทั้งใจที่รักในงาน จิตที่นิ่ง กายที่เชี่ยวชาญ รวมทั้งประสบการณ์ที่ทำให้เกิดเทคนิคการสร้างสรรค์ลวดลายได้หลากลายรูปแบบ เช่นเดียวกับลวดลายที่สร้างขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้แก่ รูปนกยูงซึ่งตามความเชื่อแบบล้านนาหมายถึงนางพญาหรือความสูงสง่า รูปปลาเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์นั่นคือรายได้ และล้อมรอบด้วยลวดลายเครือดอกมะลิเพื่อสื่อถึงวันแม่ ได้ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวเล่าถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงมีต่องานหัตถศิลป์ไทย อันก่อให้เกิดรายได้แก่พสกนิกร สามารถเลี้ยงครอบครัวและเป็นการเผยแพร่งานหัตถกรรมได้ด้วย…
“ผมจะทุ่มเทและสืบทอดงานนี้อย่างที่สุด เพื่อไม่ให้งานฉลุกระดาษสูญหายไปจากสังคมไทย และเชื่อว่าการส่งเสริมให้เยาวชนเห็นคุณค่าของงาน รวมถึงการส่งเสริมที่ทำให้เกิดรายได้ จะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้งานหัตถกรรมนี้อยู่กับเราตลอดไป”
“ครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์” สุดยอดครูช่างสาขาเครื่องรัก ที่ยึดนำแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในการอนุรักษ์และเผยแพร่หัตถศิลป์ไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย โดยทำเครื่องรักประดับมุขที่จัดว่าเป็นงานปราณีตศิลป์ชั้นสูงให้เป็นศิลปหัตถกรรมที่สามารถจับต้องได้ภายใต้แนวคิดที่ว่า การอนุรักษ์ต้องสามารถสืบทอด สร้างงาน/รายได้ และนำไปใช้ได้จริง จึงได้นำเทคนิคงานลงรักประดับมุกมาใช้กับเครื่องดนตรีให้เป็นงานหัตถกรรมที่คนทั่วไปสามารถใช้ได้ จากเดิมที่เคยเห็นศิลปะนี้ได้ตามวัด วัง หรือเครื่องตกแต่งของชนชั้นสูงเท่านั้น
“งานลงรักประดับมุกนับเป็นงานช่างที่มีความซับซ้อนเนื่องจากมีกระบวนการมากกว่า 10 ขั้นตอน ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญเฉพาะตัวของครูช่างซึ่งมีอยู่ไม่มากแล้วในปัจจุบัน ที่ผ่านมาผมได้สร้างสิ่งของเครื่องใช้ถวายเป็นพุทธบูชา หรือถวายงานเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์มาแล้ว แต่การได้ทำให้ศิลปะนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนจับต้องได้ก็สร้างความภาคภูมิใจไม่แพ้กัน เพราะเป็นการได้สืบทอดงานหัตถศิลป์ไทยได้อย่างแพร่หลายมากขึ้น”
“ครูวินัย ปัจฉิม”สุดยอดครูช่างสาขาเครื่องทอ ผู้เชี่ยวชาญในองค์ความรู้ด้านการทอผ้า เป็นคนหนึ่งที่มุ่งหวังให้ภูมิปัญญาไทยสามารถเผยแพร่สูสาธารณชนได้มากขึ้นเช่นกัน โดยทุ่มเทชีวิตข้าราชการครูคิดค้นต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทย แล้วบันทึกเป็นตำราเพื่อความสะดวกในการสืบสานของคนรุ่นหลัง ภายใต้แนวคิดการผสมผสานภูมิปัญญากับหลักวิชาการมาประยุกต์ให้ผ้าไทยมีความร่วมสมัย สามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เหมาะสมกับตลาดโดยคงเอกลักษณ์ของผ้าไทยไว้ได้อย่างสมบูรณ์…
“เวลาเราทอผ้าขึ้นมาเพื่อประกวดซักผืนหนึ่ง เมื่อมีออร์เดอร์เข้ามาแต่ช่างทำได้ไม่เหมือนเดิมเพราะไม่มีการจดบันทึก ออร์เดอร์ก็ลดลง เป็นปัญหาที่ทำให้งานภูมิปัญญาผ้าไทยไม่สามารถส่งตลาดได้ ผมจึงคิดค้นและรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมด ตั้งแต่การออกแบบจนพัฒนาออกมาเป็นชิ้นงานที่มีการปรับตามเทรนด์ ตามกลุ่มคน ตามโอกาส ทำออกมาเป็นตำราซึ่งเมื่อถึงเวลาสร้างงานช่างก็ทำได้ ส่งตลาดได้ หัตถศิลป์นี้ก็จะไม่สูญหายและคงอยู่กับเราตลอดไป”
“ครูบุญรัตน์ ทิพย์รัตน์” สุดยอดครูช่างสาขาเครื่องไม้ ผู้เชี่ยวชาญในการสร้างงานซอสามสายมานานกว่า
30 ปี ภายใต้แนวคิดการคงรูปแบบการทำเครื่องดนตรีไทยซอสามสายตามแบบโบราณไว้อย่างเหนียวแน่น เพื่อคงเอกลักษณ์ซอสามสายให้เป็นรู้จักและคงอยู่มาถึงปัจจุบันท่ามกลางกระแสความนิยมในดนตรีสากลอันเชี่ยวกราก…
“ผมไม่อยากให้เครื่องดนตรีไทยที่มีประวัติมายาวนานสูญหายไปจากสังคมไทย ผมจึงคงทุกอย่างให้เป็นแบบดั้งเดิมมาตั้งแต่เริ่มสร้างงาน เพื่ออนุรักษ์ของเดิมไม่ให้พลิกแพลงไปเป็นอย่างอื่น แต่ไม่มีเป็นใครมาเป็นสื่อในเผยแพร่ ผมต้องขอขอบคุณโครงการฯ และ ศ.ศ.ป. ที่ทำให้สิ่งที่ผมมุ่งมั่นมาตลอดได้เผยแพร่ออกสู่สังคม และสิ่งที่ผมดีใจที่สุดคือการมีคนให้การยอมรับว่าผมเป็นคนอนุรักษ์ดนตรีไทยทุกชนิด ซึ่งทั้งหมดนั้นผมได้รับการถ่ายทอดวิชาจากครู คืออาจารย์ภาวาส บุนนาค มาวันนี้ผมก็ได้ถ่ายทอดต่อให้คนรุ่นหลังแล้วและจะทำต่อไปอย่างเต็มที่ เพื่ออนุรักษ์ดนตรีไทยให้เป็นสมบัติของชาติสืบไป”