กรุงเทพฯ--18 ส.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กล่าวว่า ตามที่หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ฉบับวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เขียนถึงนโยบายและแผนพลังงานของประเทศโดยคาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริงในหลายประเด็น อาทิ เรื่องที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ชะลอแผนพลังงานทดแทนตลอดจนระบุว่าพลังงานทดแทนทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น และเรื่องแผนอนุรักษ์พลังงานไม่บูรณาการกับแผนพลังงานทดแทนรวมถึงกระทรวงพลังงานสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อีกทั้งสะท้อนท่าทีว่าไม่เชื่อในข้อมูลของภาครัฐในปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วของประเทศว่ามีอยู่จำกัด นั้น
กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงว่า ท่านนายกรัฐมนตรีไม่เคยสั่งการใดๆให้กระทรวงพลังงานชะลอแผนงานด้านแผนพลังงานทดแทน ในทางตรงกันข้าม ได้สั่งให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เช่น ใบอนุญาต รง.4 และปัญหาสายส่งไฟฟ้า เพื่อเอื้อให้เกิดการลงทุนด้านพลังงานทดแทนที่เพิ่มมากขึ้นตามแผนที่ได้อนุมัติไว้
สำหรับเรื่องพลังงานทดแทนเป็นสาเหตุทำให้ค่าไฟแพงขึ้นนั้น กระทรวงพลังงานชี้แจงว่า แม้ว่าพลังงานทดแทนจะมีต้นทุนสูงกว่าพลังงานฟอสซิลจริง อีกทั้งหากมีการรับซื้อพลังงานทดแทนเข้าสู่ระบบมากในเวลาเดียวกันอาจมีผลค่าไฟแพงขึ้น แต่รัฐบาลชุดนี้ ได้สั่งการให้จัดทำแผนแม่บทพลังงานทดแทนหรือย่อว่า AEDP มิใช่ EEP (ที่เป็นแผนอนุรักษ์พลังงาน) ตามที่ปรากฏในเนื้อข่าว โดย AEDP 2015 จะมีแผนรับซื้อพลังงานทดแทนแบบทยอยเข้าระบบให้เหมาะสมกับศักยภาพที่คงเหลือ และความสามารถของสายส่งไฟฟ้า(Grid Capacity) ซึ่งคาดว่าแผน AEDP 2015 จะมีการเสนอ กพช. ในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้หากประเทศไทยมีการปรับสมดุลเชื้อเพลิงการรับซื้อไฟฟ้า โดยผสมผสานการนำพลังงานทดแทนเข้าระบบตามแผน AEDP (ซึ่งส่วนหนึ่งของแผนนี้ปรากฏในแผน PDP) แล้วคาดว่าค่าไฟจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 1.89% ต่อปี ซึ่งถือว่าไม่สูงมากนัก โดยค่าไฟเฉลี่ยตลอดแผนอยู่ที่ระดับ 4.587 บาทต่อหน่วย ในขณะที่เชื้อเพลิงที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อค่าไฟสูงมากที่สุดก็คือ ก๊าซนำเข้าในรูปแบบของ LNG ที่เราต้องช่วยกันลดการพึ่งพา LNG และหันไปใช้เชื้อเพลิงอื่นทดแทน
กรณีแผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP 2015 ) ที่กล่าวว่าไม่บูรณาการด้านพลังงานทดแทนด้วยนั้น ประเด็นนี้กระทรวงพลังงานขอชี้แจงว่า แผนอนุรักษ์พลังงานไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับแผนพลังงานทดแทนแต่อย่างใดซึ่งเป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อน อีกทั้งยังมีความสับสนอีกว่าแผน EEP 2015 มีการสนับสนุนชีวมวลและก๊าซชีวภาพเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นคนละเรื่องคนละวาระ และคนละประเด็นกัน ซึ่งการสนับสนุนพลังงานทดแทนให้กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ได้รับการนำเสนอเป็นมาตรการพิเศษต่างหาก และเป็นมาตรการชั่วคราว เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในกิจการพลังงานทดแทนในเขตนี้ได้เร็วขึ้นกว่า 3 ปีเมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีมาตรการพิเศษ
นอกจากนี้ในเนื้อข่าวยังพูดถึงการที่ กพช. อนุมัติให้น้ำมันปาล์มดิบไปผสมกับน้ำมันเตาในโรงไฟฟ้ากระบี่เพิ่มขึ้นโดยเข้าใจไปว่า กพช. ได้อนุมัติให้นำก๊าซชีภาพ (Biogas) ผสม 20 % ซึ่งในความเป็นจริง กพช.อนุมัติให้กฟผ. สามารถเพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มดิบกับน้ำมันเตาจาก 10% เป็น 23% เพื่อใช้เป็นมาตรการชั่วคราวที่จะช่วยพยุงราคาน้ำมันปาล์มในภาคใต้ และมาตรการนี้ก็เป็นมาตรการชั่วคราวโดยกระทรวงพลังงานปฏิบัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ร้องขอมาและเป็นมาตรการที่ไม่เกี่ยวกับแผน AEDP เช่นกัน
ประเด็นสุดท้ายทางผู้เขียนบทความยังแสดงท่าที่ไม่เชื่อข้อมูลของภาครัฐในทำนองที่ว่าการที่ภาครัฐกล่าวอ้างว่าก๊าซธรรมชาติจะหมดลงเป็นคำกล่าวที่เกินจริง (Specious Claim) ซึ่งกรณีนี้กระทรวงพลังงานได้ชี้แจงผ่านสื่อมวลชนหลายครั้งแล้วว่าปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วของประเทศมีอยู่อย่างจำกัดเพียงแค่ 6.4 ปี เมื่อเทียบกับอัตราการใช้ในปัจจุบันและมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยหากไม่มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องหรือแสวงหาแหล่งใหม่ๆ เข้ามาเสริมเพิ่มเติมในอนาคต ปริมาณสำรองเหล่านี้ก็จะหมดไปภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว
“กระทรวงพลังงานมีความบริสุทธิ์ใจและตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศเพื่อให้มีใช้อย่างพอเพียง ทั้งนี้แผนด้านพลังงานทุกแผนงานได้มีการเปิดเผยข้อมูลกับสาธารณชนและเปิดรับความเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่เข้าร่วมให้ความเห็นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงมั่นใจและเสนอต่อ กพช. เพื่อขับเคลื่อนพลังงานของประเทศให้มีความมั่นคงและยั่งยืน” นายทวารัฐกล่าวปิดท้าย