กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์
‘บมจ.น้ำตาลและอ้อยตะวันออก’ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เตรียมพร้อมผลผลิตอ้อยรับฤดูการผลิตปี 2558/59 รองรับเป้าหมายอ้อยเข้าหีบ 4 ล้านตัน วางแผนนำผลพลอยได้ไปสร้างความมั่นคงให้แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลและพลังงานชีวภาพ ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพ ธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้ธุรกิจโดยรวมอย่างมั่นคง
คุณหญิงณัฐิกา วัธนเวคิน อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท น้ำตาลและอ้อยตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ ESC ผู้ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายจากอ้อยและธุรกิจที่นำผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตไปต่อยอดสู่อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ ธุรกิจผลิตไฟฟ้า ธุรกิจผลิตเอทานอล ธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพและธุรกิจผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานกลุ่มบริษัทฯ ในปีนี้จะเร่งเพิ่มผลผลิตต่อไร่ของอ้อยและพื้นที่ปลูกอ้อย รองรับเป้าหมายการหีบอ้อยในฤดูการผลิตปี 2558/59 ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นเป็น 4 ล้านตัน จาก 3.54 ล้านตัน ในปี 2557/58 โดยพร้อมรับปริมาณอ้อยทั้งหมดในพื้นที่เพาะปลูกของจังหวัดสระแก้ว
ทั้งนี้ โรงงานได้ร่วมกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญาในการเตรียมความพร้อมด้านการเพาะปลูกเพื่อเพิ่มคุณภาพผลผลิตและประสิทธิภาพของการผลิตอย่างจริงจัง ทำให้กระทรวงอุตสาหกรรมมอบรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นที่มีคะแนนสูงสุดอันดับ 1 - ประจำปี 2558 ให้กับทางโรงงานน้ำตาลและอ้อยตะวันออก จากการส่งเสริมพัฒนาด้านคุณภาพการผลิตของโรงงานและชาวไร่อ้อยมาโดยตลอด ซึ่งบริษัทฯได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่นหรือโรงงานน้ำตาลชั้นดีจากการกระทรวงอุตสาหกรรมติดต่อกันมาเป็นปีที่ 9 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่ต้องการเพิ่มคุณภาพผลผลิตอ้อยที่ดี โดยปีนี้โรงงานมีเป้าหมายการเพิ่มผลผลิตอ้อยต่อไร่เป็น 12 ตัน และเพิ่มผลผลิตน้ำตาลเป็น 113 กิโลกรัมน้ำตาลต่อตันอ้อย
“แผนเพิ่มกำลังการหีบอ้อยและปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาพันธุ์อ้อยของบริษัทฯ ผ่านการร่วมมือกับชาวไร่อ้อยคู่สัญญา จะสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบ และจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตของรายได้และกำไรจากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจผลิตเอทานอล ผ่านการเพิ่มผลผลิตอ้อยที่ช่วยสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบในธุรกิจต่อเนื่องที่เกิดจากกระบวนการผลิตน้ำตาลทราย และจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจโดยรวม ผลักดันการทำกำไรของกลุ่มบริษัทให้เติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และยังสามารถรองรับแผนงานขยายธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มเติมในอนาคตอีกด้วย” คุณหญิงณัฐิกา กล่าว
ปัจจุบันบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 59.8 เมกะวัตต์ โดยบริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลเพิ่มอีก 1 โรง ซึ่งจะมีกำลังการผลิต 35 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ของปี 2559
นอกจากธุรกิจผลิตไฟฟ้าแล้ว บริษัทฯ ยังมีการนำกากน้ำตาลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาลทรายมาเป็นวัตถุดิบสำหรับธุรกิจผลิตเอทานอล ซึ่งมีกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน บริษัทฯ ยังดำเนินธุรกิจผลิตก๊าซชีวภาพที่นำน้ำกากส่าจากการผลิตเอทานอลมาปรับสภาพและหมักเพื่อผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ โดยมีกำลังการผลิต 43.0 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตเอทานอลของบริษัทฯ และเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิตไฟฟ้าอีกทอดหนึ่ง โดยสามารถทดแทนการใช้เชื้อเพลิง (น้ำมันเตา) ในกระบวนการผลิตเอทานอลได้ถึง 95% พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ยังสามารถนำกากหม้อกรองซึ่งเป็นผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีและวัสดุปรับปรุงดิน รวมกำลังการผลิตกว่า 20,000 ตันต่อปี เพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกของชาวไร่อ้อยคู่สัญญา
“เราเน้นให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวไร่อ้อยคู่สัญญาให้มีองค์ความรู้ด้านการเพาะปลูกอ้อยที่ยั่งยืนเพื่อให้ชาวไร่สามารถเพาะปลูกอ้อย และจัดเก็บผลผลิตอ้อยที่มีคุณภาพนำส่งโรงงานเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบผลผลิตอ้อย โดยโรงงานพร้อมนำผลผลิตที่ได้ไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มสูงสุดให้แก่ธุรกิจด้วยการนำผลพลอยได้จากการผลิตน้ำตาลทรายทุกส่วนกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผ่านการประกอบธุรกิจแบบครบวงจรตามแนวคิด Fully Integrated System และสามารถสร้างความมั่นคงด้านวัตถุดิบให้แก่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องด้านพลังงานทดแทนแบบครบวงจรทั้งธุรกิจผลิตไฟฟ้า เอทานอล ก๊าซชีวภาพและปุ๋ยอินทรีย์เคมี เพื่อผลักดันผลการดำเนินงานให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง” คุณหญิงณัฐิกา กล่าว