กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--กรมป่าไม้
อธิบดีกรมป่าไม้เผยเขาหัวโล้นมี 8.6 ล้านไร่ในพื้นที่ต้นน้ำ 13 จังหวัด เร่งดำเนินการฟื้นฟูตามแนวทาง 7ยุทธศาสตร์ ชี้ผู้บุกรุกมีเป็นแสนคน เป็นชาวไทยบนพื้นที่สูงร้อยละ 80 เร่งพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวพระราชดำริ นำร่องฟื้นฟูป่าต้นน้ำจ.เชียงใหม่ และน่าน มาจัดทำโรดแมฟ ขยายผลไปพื้นที่อื่นต่อไป
เมื่อวันที่ 10 ส.ค. นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ปัญหาเขาหัวโล้นที่ถูกบุกรุกกว่า 8.6 ล้านไร่ ในพื้นที่ต้นน้ำ 13 จังหวัด แบ่งเป็นภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน และจ.เลย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า โดยการดำเนินฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันต้องไม่น้อยกว่า 8.6 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 20 ปี แบ่งเป็นระยะเร่งด่วน คือ ปี 2558-2559 ดำเนินการในพื้นที่ 2 จังหวัด น่านและเชียงใหม่ ระยะกลาง ในปี 2560-2569 ดำเนินการ 40 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ 13 จังหวัด และระยะยาว ปี 2570-2579 ดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายี่เหลือทั้งหมด ทั้งนี้กระทรวงทรัพยากรฯ ได้วางแนวทาง 7 ยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 1.สร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วน 2.จัดระเบียบคนและพื้นที่ 3.ป้องกันและรักษาป่า 4.ฟื้นฟูระบบนิเวศ 5.พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 6.สร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 7.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน อย่างไรก็ตามพื้นที่ป่าต้นที่รับการฟื้นฟูจะช่วยดูดซับน้ำฝนและเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนในแต่ละลุ่มน้ำ ซึ่งป่าต้นน้ำที่ฟื้นฟูแล้วจะเพิ่มความสามารถในการดูดซับก๊าซเรือนกระจก ลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวอีกว่า ขณะที่จำนวนผู้บุกรุกใน 13 จังหวัด พบว่ามีอยู่ประมาณ 1 แสนคน โดยร้อยละ 80 เป็นชาวไทยบนพื้นที่สูง ร้อยละ 10 เป็นชาวไทยพื้นที่ราบ และอีกร้อยละ 10 เป็นกลุ่มนายทุน โดยพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ถูกนำไปทำการเกษตร อาทิ ข้าวโพด ร้อยละ 60 ยางพารา ร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นพืชอื่นๆ เช่น มันสำปะหลัง กะหล่ำปลี โดยการดำเนินการจัดการป่าต้นน้ำนั้น จะพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวไทยบนพื้นที่สูงไม่น้อยกว่า 800,000 คน โดยสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆให้รับรู้ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศ ควบคู่กับการเร่งสำรวจในพื้นที่เพื่อจัดระเบียบพื้นที่การใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างละเอียด ปัญหาเขาหัวโล้นเป็นปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยบนพื้นที่สูง จึงต้องนำหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาดำเนินการควบคู่กัน รวมทั้งได้ยึดแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง "คนอยู่ร่วมกับป่า" เพื่อเปลี่ยนราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายมาเป็นผู้อนุรักษ์ และส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมดูแลและจัดการทรัพยากรป่าด้วยตนเอง สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืน
ทั้งนี้การบูรณาการจัดการพื้นที่ป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชันตามแผนงานจะต้องมีการฟื้นฟูเป็นป่าอนุรักษ์ 60-80 เปอร์เซ็นต์ เพื่อฟื้นคืนสภาพกลับเป็นป่าต้นน้ำ เป็นป่าชุมชน 10-20 เปอร์เซ็นต์ ที่ทำกินและป่าเศรษฐกิจชุมชน 15-20 เปอร์เซ็นต์ และที่อยู่อาศัย 2-5 เปอร์เซ็นต์ โดยนำร่องดำเนินงานในพื้นที่เขาหัวโล้น จ.เชียงใหม่ และ จ.น่าน ก่อน จากนั้นจะนำผลปฏิบัติการในพื้นที่นำร่องมาจัดทำแผนแม่บทและโรดแมฟ เพื่อขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป อธิบดีกรมป่าไม้กล่าว.