มุมมองของประชาชนที่มีต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday August 19, 2015 13:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--นิด้าโพล สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 1-12 สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “มุมมองของประชาชนที่มีต่อปัญหาการใช้ความรุนแรงในครอบครัวไทย” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 - 7 สิงหาคม 2558 จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้น จำนวน 4,853 หน่วยตัวอย่าง ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิหลายขั้น (Stratified Multi - Stage Sampling) ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีลงพื้นที่ภาคสนาม โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error : S.E.) ไม่เกิน 1.0 จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงช่องทางการติดตามข่าวสารของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 88.4 ติดตามข่าวสารผ่านโทรทัศน์ รองลงมาร้อยละ 45.1 ติดตามข่าวสารผ่านทางโทรศัพท์มือถือ ร้อยละ 37.8 ติดตามข่าวสารผ่านทางหนังสือพิมพ์ ร้อยละ 33.5 ติดตามข่าวสารผ่านทางเว็ปไซด์ต่างๆ ร้อยละ 30.6 ติดตามข่าวสารผ่านทาง Social Media (Line, Facebook, Instagram, twister) ร้อยละ 22.9 ติดตามข่าวสารผ่านทางวิทยุ ร้อยละ 6.9 ติดตามข่าวสารผ่านทางแผ่นพับ/ใบปลิว และร้อยละ 5.6 ติดตามข่าวสารผ่านทางนิตยสาร คนส่วนใหญ่หรือเกินกว่าครึ่ง ร้อยละ 55.58 เคยพบเห็นหรือรับรู้รับทราบเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ในครอบครัว โดยเหตุการณ์ที่พบเห็น เช่น บิดามารดาทะเลาะกัน พ่อเลี้ยงทำร้ายร่างกายลูกเลี้ยง /พ่อเลี้ยงข่มขืนลูกเลี้ยง บุตรหลานติดยาเสพติด แล้วทำร้ายร่างกายคนในบ้าน ทะเลาะวิวาท และการใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น และร้อยละ 44.42 ไม่เคยพบเห็นหรือรับรู้รับทราบเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว หากพูดถึงประสบการณ์ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นกับตนเอง/คนในครอบครัว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.54 ไม่เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับตนเอง/คนในครอบครัว และร้อยละ 17.46 เคยมีประสบการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นกับตนเอง/คนในครอบครัว เหตุการณ์ที่พบ เช่น ทะเลาะวิวาท ชกต่อยกับเพื่อน, เมาสุราแล้วขาดสติ เกิดการทะเลาะวิวาท, มีคนร้ายบุกเข้าบ้าน พยายามฆ่าและลักทรัพย์, ทะเลาะวิวาท เป็นต้น เมื่อสอบถามสาเหตุที่เกิดปัญหาความรุนแรงมากที่สุด 3 อันดับแรก พบว่า ร้อยละ 45.02 ระบุสาเหตุมาจากการ ดื่มสุรา อันดับที่ 2 ร้อยละ 28.13 ระบุสาเหตุมาจากการทะเลาะวิวาท และอันดับที่ 3 ร้อยละ 26.85 ระบุสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้สารเสพติด จาก 3 สาเหตุแรกดังกล่าวที่ส่งผลต่อความรุนแรงในครอบครัวนั้น ประชาชนมองว่าสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาดังกล่าวอยู่ในระดับที่ต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยมีค่าเฉลี่ยระดับความรุนแรงเท่ากับ 7.61 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน เมื่อสอบถามถึงการตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือหากพบเห็นบุคคลที่กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.54 เข้าไปช่วยเหลืออย่างแน่นอน ร้อยละ 32.20 ยังไม่แน่ใจ โดยให้เหตุผลว่าขอดูสถานการณ์ก่อนว่ารุนแรงระดับไหน คิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ทราบแน่ชัดว่าใครถูกหรือผิด เป็นต้น และร้อยละ 11.26 ไม่เข้าไปช่วยเหลืออย่างแน่นอน เพราะคิดว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว ควรโทรไปแจ้งตำรวจ กลัวโดนทำร้ายไปด้วย ฯลฯ การแจ้งเบาะแสหากพบเห็นบุคคลที่กำลังตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ร้อยละ 77.61 แจ้งเบาะแส โดยจะแจ้งผ่านช่องทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจ โซเชียลมีเดีย วิทยุสื่อสาร แจ้งผู้นำชุมชน สายด่วน 1669 และเว็บไซด์ร้องเรียน ร้อยละ 16.95 ยังไม่แน่ใจ เพราะยังไม่ทราบว่าจะแจ้งช่องทางใด ดูสถานการณ์ก่อนและร้อยละ 5.44 ไม่แจ้งเบาะแส เพราะเป็นเรื่องภายในครอบครัว กลัวปัญหาจะตามมาภายหลัง หน่วยงาน สถาบัน บุคคล ที่นึกถึงเป็น อันดับแรก ที่ต้องการให้เข้ามาดูแลหรือแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว พบว่า ร้อยละ 33.57 นึกถึงคนในครอบครัว ร้อยละ 25.03 นึกถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ร้อยละ 20.99 นึกถึงผู้นำชุมชน /กำนัน /ผู้ใหญ่บ้าน ร้อยละ 12.95 นึกถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (สนง. พมจ. สถานสงเคราะห์ บ้านพักเด็ก) และร้อยละ 2.98 นึกถึงเพื่อนบ้าน เป็นต้น เมื่อสอบถามถึงกิจกรรมที่จะช่วยสนับสนุนเพื่อลดระดับความรุนแรงในครอบครัวหรือช่วยไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้น ประชาชนระบุกิจกรรม 5 กิจกรรม คือ 1) จัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อลดความรุนแรงในครอบครัว และมีการจัดกิจกรรมในชุมชน ให้ความรู้ อย่างสม่ำเสมอ 2) จัดกิจกรรมสันทนาการ เช่น ออกกำลังกายสำหรับครอบครัว จัดแข่งขันกีฬา เป็นต้น 3) ส่งเสริมการสร้างอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้คนในครอบครัว 4) อบรมการไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมถึงอบายมุขต่างๆ แก่คนในชุมชน 5) เจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ออกตรวจอย่างสม่ำเสมอ ท้ายที่สุดประชาชนให้ข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว 5 ประเด็นแรก ประกอบด้วย ประเด็นที่หนึ่ง คือ คนในครอบครัวควรมีความรู้และเข้าใจกัน ฟังเหตุผล มีเวลาให้กัน ดูแลกันและกัน ประเด็นที่สอง คือ งดดื่มสุรา ยาเสพติด เล่นการพนัน อบายมุขต่างๆ ประเด็นที่สาม คือ จัดกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ให้คนในครอบครัวสามารถทำร่วมกันได้ ประเด็นที่สี่ คือ จัดหาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้คนในครอบครัว ประเด็นที่ห้า คือ เจ้าหน้าที่และผู้นำชุมชนควรให้ความรู้ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับบทลงโทษอย่างทั่วถึง เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 39.65 เป็นเพศชาย ร้อยละ 59.59 เป็นเพศหญิง และร้อยละ 0.76 เป็นเพศทางเลือก ตัวอย่างร้อยละ 19.46 มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.65 มีอายุ 20 – 29 ปี ร้อยละ 22.19 มีอายุ 30 – 39 ปี ร้อยละ 18.46 มีอายุ 40 - 49 ปี และร้อยละ 20.24 มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 92.09 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 6.70 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.87 นับถือศาสนาคริสต์ และร้อยละ 0.34 นับถือศาสนาอื่นๆ ตัวอย่างร้อยละ 19.2 จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 34.41 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษา/เทียบเท่า ร้อยละ 13.26 จบการศึกษาระดับอนุปริญญา /เทียบเท่า ร้อยละ 28.26 จบการศึกษาระดับปริญญาตรี และ ร้อยละ 4.74 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 23.93 ประกอบอาชีพข้าราชการ /ลูกจ้างของรัฐ /พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 8.70 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 14.45 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 9.45 ประกอบอาชีพเกษตรกร /ประมง ร้อยละ 13.07 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป /ใช้แรงงาน ร้อยละ 8.74 พ่อบ้าน /แม่บ้าน /เกษียณอายุ /ว่างงาน และร้อยละ 21.59 นักเรียน /นักศึกษา ตัวอย่างร้อยละ 22.78 ไม่มีรายได้ ร้อยละ32.11 รายได้ไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 29.07 รายได้ 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 8.49 รายได้ 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 2.77 รายได้ 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 1.95 รายได้มากกว่า 40,000 บาท และร้อยละ 2.77 ไม่ระบุรายได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ