จับตาวาระ กทค. ครั้งที่ 19/2558 : พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่น 1800 หลังรับฟังความคิดเห็น

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday August 19, 2015 13:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--NBTC Rights ในการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 18/2558 วันพุธที่ 19 สิงหาคม 2558 เป็นการนัดประชุมด่วนเพื่อพิจารณาวาระเรื่องร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 1800 MHz ภายหลังจากการผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งเพิ่งยุติลงเมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยประเด็นสำคัญที่น่าจับตาคือจะมีการนำความเห็นต่างๆ มาปรับปรุงร่างประกาศฉบับนี้อย่างไร และที่ประชุม กทค. จะมีมติอย่างไรต่อประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ทั้งประเด็นเรื่องข้อกำหนดเพื่อส่งเสริมการแข่งขัน ซึ่งหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเกณฑ์การถือครองคลื่นสูงสุด (Overall Spectrum Cap) เพราะอาจเป็นการกีดกันผู้ให้บริการบางรายในการเข้าร่วมประมูลและสุ่มเสี่ยงให้เกิดการฟ้องร้องในภายหลัง ประเด็นเรื่องราคาตั้งต้นในการประมูลที่มีผู้เสนอว่าควรตั้งต้นที่ 100 เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินมูลค่าคลื่น และประเด็นสำคัญอย่างเรื่องการคุ้มครองผู้ใช้บริการ ทั้งเรื่องความครอบคลุมโครงข่าย เงื่อนไขทางด้านความเร็วในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและคุณภาพบริการ การกำหนดอัตราค่าบริการเป็นการล่วงหน้า การคิดค่าบริการแบบไม่ปัดเศษ เป็นต้น ซึ่งในประเด็นนี้เอง นายกรัฐมนตรีก็ได้เคยบัญชาผ่านสำนักงาน กสทช. เมื่อครั้งให้ความเห็นชอบแนวทางเตรียมการในการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม โดยมีการเน้นย้ำว่าผู้ใช้บริการต้องไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขึ้นราคา และให้กำหนดค่าใช้บริการไว้ล่วงหน้า ลดความเหลื่อมล้ำ สรุปความเห็นจากเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่านความถี่ 1800 MHz เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2558 1. ข้อกำหนดเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1.1 ไม่ควรกำหนดการถือครองคลื่นความถี่สูงสุด (Overall Spectrum Cap) ในการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้ เพื่อไม่กีดกันผู้ให้บริการบางรายเข้าร่วมประมูล 1.2 ควรมีการกำหนดเงื่อนไขพิเศษเพื่อดึงดูดให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น - กำหนดคลื่นความถี่พิเศษ (set aside) สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่เข้าร่วมประมูล เช่น กำหนดคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz จำนวน 5 MHz เป็นต้น - กำหนดเงื่อนไขการประมูลสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ให้ต่ำกว่าผู้ประกอบการรายเดิม เช่น กำหนดราคาตั้งต้นต่ำกว่า, กำหนดเงื่อนไขความครอบคลุมโครงข่ายต่ำกว่า เป็นต้น 1.3 จัดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกัน ทั้งคลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz ทั้งที่หมดและยังไม่หมดสัมปทาน เพื่อให้มีคลื่นความถี่มีเพียงพอกับการให้บริการ 2. ข้อกำหนดเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ 2.1 ความครอบคลุมโครงข่าย (Coverage) ควรกำหนดสูงกว่า 40% ของประชากร โดยอาจกำหนด - 80% ของประชากรในเขตเมือง (หรือเทศบาล) ใน 4 ปี และ 40% ของประชากรในเขตชนบท (หรือนอกเขตเทศบาล) ใน 4 ปี - 60% ของประชากร (รวม) ภายใน 4 ปี - 100 % ของเขตเทศบาล 2.2 คุณภาพ/ความเร็วขั้นต่ำในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ควรกำหนดให้ชัดเจนในร่างประกาศ โดยความเร็วของบริการ 4G LTE ปัจจุบันสามารถทำความเร็วได้ถึง 100 Mbps (megabit per second) โดยสามารถกำหนดความเร็วขั้นต่ำได้หลากหลาย เช่น - 2 Mbps ขั้นต่ำของบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วไป - 4 Mbps (ปัจจุบันองค์กรกำกับดูแลของประเทศสหรัฐอเมริกา (FCC) ได้เปลี่ยนนิยามอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของอเมริกาจาก 4 Mbps เป็น 25 Mbps แล้ว) - ความเร็ว 10 เท่าของมาตรฐานขั้นต่ำ 3G เดิม คือ 345 kbps ×10 = ประมาณ 3.5 Mbps 2.3 การกำหนดวิธีคิดค่าบริการ - คิดค่าบริการตามจริงทั้งเสียงและข้อมูล ไม่ปัดเศษค่าบริการ 2.4 การกำหนดอัตราค่าบริการ - ควรกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูงที่ชัดเจนในประกาศ - ควรมีโปรโมชั่นพื้นฐาน เช่น 50 บาท เพื่อให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการได้ - ควรมีโปรโมชั่นพิเศษสำหรับคนพิการเช่นคนหูหนวก 2.5 การร้องเรียน - ควรมีเบอร์โทรศัพท์ 4 ตัว เพื่อร้องเรียนฟรี - มี application เพื่อรับเรื่องร้องเรียน 2.6 การตั้งเสา - ควรปรับลดค่าความแรงและความหนาแน่นคลื่นให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยกำหนดให้ชัดเจนในประกาศ - ควรใช้เสาแบบ pico cell - ควรปรับภูมิทัศน์ของเสาสัญญาณให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม - ไม่ตั้งเสาใกล้พื้นที่อ่อนไหว เช่น โรงเรียน สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงพยาบาล - ตั้งเสาอยู่ห่างจากชุมชน 400 - 1,000 เมตร 2.7 การเปิดเผยข้อมูล (open data) - ควรเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการให้บริการ เช่น แผนการตั้งเสาของผู้ประกอบการ/ จำนวนเรื่องร้องเรียน การแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน 3. ราคาตั้งต้น ควรใช้ราคาตั้งต้นที่ 100% ของราคาประเมินมูลค่าคลื่น 4. ประเด็นเรื่อง CSR 4.1 บริษัทควรจัดทำแผน CSR ภายในเวลา 6 เดือน แล้วควรนำออกรับฟังความคิดเห็นผู้บริโภคด้วย 4.2 ควรมีศูนย์รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยอาจมีจังหวัดละ 1 แห่ง
แท็ก คมนาคม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ