กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 บูรณาการร่วม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 – 12 นำเสนอผลงานวิจัย การศึกษาศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการรองรับเออีซี หวังเป็นแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้สหกรณ์การเกษตรของไทย
นางอัญชนา ตราโช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 7 ชัยนาท (สศท.7) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยในฐานะประธานคณะทำงานวิชาการด้านวิจัยและประเมินผล ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 1 -12 ได้ร่วมนำเสนอผลงานวิชาการด้านเศรษฐกิจการเกษตรประจำทุกปี ซึ่งในปีนี้ได้นำเสนอผลงานวิจัยเชิงบูรณาการของ สศท. 1 - 12 เรื่อง “การศึกษาศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” โดยวิเคราะห์ ความสามารถทางด้านการผลิตสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานสินค้า และแนวทางการจัดการทางธุรกิจเพื่อขยายการดำเนินงานเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนการพัฒนาระบบสหกรณ์ให้ดำเนินธุรกิจสหกรณ์ให้มีการเพิ่มบทบาทจากผู้ซื้อพืชผล สู่ขั้นตอนการแปรรูปและการส่งออก ซึ่งผลการศึกษาได้สหกรณ์ที่เป็นต้นแบบทางด้านความร่วมมือในการทำธุรกิจกับสหกรณ์ของสมาชิก การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ได้การรับรองมาตรฐาน และช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรประตูป่าจำกัด จังหวัดเชียงใหม่ ผลิตและจัดจำหน่ายลำไยผลสดที่ได้รับมาตรฐาน GAP และสหกรณ์โคนมพัทลุงจำกัด จังหวัดพัทลุง ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่ม
สำหรับสหกรณ์ต้นแบบทางด้านบรรจุภัณฑ์ และการกระจายสินค้าและผลิตภัณฑ์ ได้แก่ สหกรณ์การเกษตร พิมายจำกัด จังหวัดนครราชสีมา และสหกรณ์ต้นแบบทางด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกไปต่างประเทศ ได้แก่ สหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา จำกัด ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินนโยบายและมาตรการที่ช่วยสนับสนุนและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้สหกรณ์การเกษตรของไทยสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ นอกจากการนำเสนอผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษาศักยภาพการผลิต การตลาดของสหกรณ์การเกษตร เพื่อนำไปสู่การผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงบูรณาการแล้ว สศท. ยังมีการนำเสนอผลงานวิจัยที่น่าสนใจอีกหลายเรื่อง เช่น “เศรษฐกิจการผลิต การตลาดลำไย จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน” นำเสนอโดย สศท.1 “การศึกษาประสิทธิภาพการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจังหวัดชัยนาท” นำเสนอโดย สศท.7 และ “ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโครงการสร้างรายได้ที่บรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดนครสวรรค์” นำเสนอโดย สศท.12 ซึ่งรายงานฉบับสมบูรณ์คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายเดือนกันยายน ซึ่งท่านทีสนใจผลการศึกษา สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ได้ สศท.7 โทรศัพท์ 056 405 005 ในวันและเวลาราชการ