กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน)
ศ.น.ท.ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “อุณหภูมิและความชื้นในอากาศนั้น เป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท อาทิ อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น สำหรับในประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม มีการเลี้ยงไก่ – เป็ดในโรงเรือนกันอย่างแพร่หลาย โดยกระบวนการเลี้ยงไก่ – เป็ด การควบคุมสภาพอากาศภายในโรงเรือนเป็นเรื่องที่ผู้เลี้ยงให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งอุณหภูมิและความชื้น หรือแม้กระทั่งปัจจัยอื่นๆ ล้วนมีผลต่อการเจริญเติบโตของไก่ – เป็ดทั้งสิ้น ดังนั้น โรงเรือนต่างๆ จึงต้องมีการติดตั้งเซ็นเซอร์และอุปกรณ์ประมวลผลเพื่อช่วยควบคุมและตรวจสอบ ค่าอุณหภูมิและความชื้น ให้ตรงตามข้อกำหนดของกระบวนการการเลี้ยง เพื่อให้ได้ไก่ – เป็ด ที่มีคุณภาพและเป็นที่ยอมรับการของผู้บริโภค”
นายวัชรพล ภุมรา วิศวกรผู้วิจัย กล่าวว่า “ปัจจุบันการติดตั้งเซ็นเซอร์วัดความชื้นและเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิ ในโรงเรือนเลี้ยงไก่ – เป็ด ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จะมีการติดตั้งแยกชุด และมีหลากหลายยี่ห้อ โดยแต่ละชุดจะใช้ตัวควบคุมการทำงานซึ่งเป็นตัวประมวลผล ของโรงเรือนที่หลากหลาย แยกตามชนิดของเซ็นเซอร์ ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ อีกทั้งชุดอุปกรณ์เหล่านี้ยังต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ จึงส่งผลต่อการติดตั้งระบบควบคุมโรงเรือน และการบำรุงรักษาเครื่องมือที่มีราคาค่อนข้างสูง
วิศวกรของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้ร่วมกับ สำนักวิศวกรรมสายธุรกิจไก่-เป็ด บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้พัฒนาอุปกรณ์ประมวลค่าความชื้นและอุณหภูมิที่สามารถเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ได้ทุกยี่ห้อ อีกทั้งยังเชื่อมต่อกับระบบควบคุมการเลี้ยงของโรงเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการทดสอบพบว่า อุปกรณ์ประมวลค่าดังกล่าวสามารถช่วยลดข้อจำกัดของการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการเชื่อมต่อกับเซ็นเซอร์ได้หลายประเภท และเชื่อมต่อได้กับทุกยี่ห้อ ส่งผลให้บริษัทฯ ลดการสั่งซื้ออุปกรณ์นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ลดต้นทุนจากราคาเครื่องละ 11,000 บาท เหลือเพียง 1,500 บาท ซึ่งลดลงจากเดิมถึง 86 %”
นายธีศิษฏ์ เสรีขจรจารุ ผู้จัดการทั่วไปด้านวิศวกรรม บมจ.ซีพีเอฟ ประเทศไทย ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า “ปัจจุบัน บริษัทซีพีเอฟฯ มีฟาร์มอยู่ประมาณ 100 แห่งทั่วประเทศ และแต่ละแห่งต้องใช้เซ็นเซอร์ประมาณ 12 -15 เครื่อง ซึ่งในขณะนี้ ทางบริษัทฯ ได้ทยอยเปลี่ยนไปใช้ตัวประมวลผลที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ในฟาร์มทั่วประเทศ และยังจะขยายผลไปยังฟาร์มในต่างประเทศ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 80 ฟาร์มอีกด้วย โดยหากเปลี่ยนไปใช้ทั้งหมดจะทำให้ บริษัทฯ สามารถลดต้นทุนการสั่งซื้อได้ถึง 14.82 ล้านบาท/ปี นับเป็นผลงานที่สถาบันฯ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมกับการวิจัยภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งหวังเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนงานวิจัยที่นำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสามารถขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้”
ผู้ประสานงาน น.ส.ศศิพันธุ์ ไตรทาน, น.ส.กุลธิดา พิทยาภรณ์
เบอร์โทรศัพท์ 0-4421-7040 ต่อ 1252,1601 โทรสาร 0-4421-7047
อีเมลล์: sasipun@slri.or.th, kultida@slri.or.th, pr@slri.or.th