กรุงเทพฯ--19 ส.ค.--ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน
สสว. ร่วมกับ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน มข. เผยแพร่งานวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกธุรกิจท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ ในกลุ่ม CLMV หวังให้เป็นตัวช่วย SMEs ไทย ขยายตลาดการค้า-การลงทุน รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ในการเตรียมความพร้อมใช้ประโยชน์จาก AEC
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ร่วมกับ ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยแพร่งานวิจัย “CLMV Pulse ชีพจรอาเซียน ท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ” ซึ่งเป็นผลการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกของกลุ่มประเทศ CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่เศรษฐกิจกำลังเติบโตและผู้ประกอบการ SMEs ไทย มีศักยภาพในการขยายตลาดได้สูง โดยศึกษาครอบคลุมธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ ซึ่งการดำเนินงานได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรมหาวิทยาลัยในประเทศดังกล่าว โดยมีข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 2,400 ตัวอย่าง หรือประเทศละ 600 ตัวอย่าง และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องใน 2 สาขาธุรกิจ เพื่อให้ผลการศึกษาที่ได้เป็นข้อมูลให้กับผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมความพร้อมใช้ประโยชน์จากการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
รศ.ดร.กัลปพฤกษ์ ผิวทองงาม คณบดีคณะวิทยาการจัดการ และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยผลการศึกษาวิจัยว่า โดยภาพรวมของกลุ่ม CLMV ในด้านการท่องเที่ยว พบว่า ส่วนใหญ่นิยมใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวท่องเที่ยวต่างเมืองกับครอบครัวหรือเพื่อนที่คุ้นเคย บางครอบครัวใช้ช่วงเวลาการเดินทางไปเยี่ยมญาติในต่างเมืองเพื่อท่องเที่ยวในคราวเดียวกัน แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมคือ ทะเล ภูเขา น้ำตก แหล่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ส่วนวิถีชีวิตที่เข้าสู่ความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น ทำให้ประชากรในเมืองใหญ่เริ่มใช้เวลาว่างที่ศูนย์การค้าและร้านอาหารที่ทันสมัยเพิ่มขึ้น ด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศนิยมไปประเทศในแถบเอเชียเป็นหลัก
ในด้านบริการสุขภาพ พบว่า ระบบสาธารณสุขในกลุ่มดังกล่าวอยู่ในช่วงพัฒนา โรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีเฉพาะเมืองหลัก ไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมทั่วถึงโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในชนบทห่างไกล หากเจ็บป่วยเล็กน้อยจะนิยมซื้อยารับประทานเองหรือใช้บริการแพทย์ทางเลือกโดยใช้ยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบัน นอกจากนี้ยังขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัย ขณะที่ความสามารถของแพทย์ถือว่าอยู่ในระดับที่มีมาตรฐาน อย่างไรก็ดีสำหรับกลุ่มประชากรที่มีฐานะดีมักจะเลือกเข้ารับบริการที่โรงพยาบาลเอกชน เพราะมีความแตกต่างเป็นอย่างมากกับโรงพยาบาลของรัฐ กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงบางรายจะใช้บริการโรงพยาบาลในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ไทย นอกจากนี้อิทธิพลจากสื่อด้านแฟชั่นและความงาม ส่งผลให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพและผิวพรรณมากขึ้น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและการบำรุงผิวพรรณได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้บริโภคในตลาด CLMV
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายประเทศ พบว่า กัมพูชามีทรัพยากรธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้หลั่งไหลเข้าประเทศ มีความปลอดภัยและระบบสาธารณูปโภคในระดับที่ดี สำหรับพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวกัมพูชา พบว่า นิยมท่องเที่ยวกับครอบครัวในช่วงวันหยุด โดยเฉพาะทะเลและชายหาด ส่วนต่างประเทศจะนิยมท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน และแนวโน้มที่เป็นกระแสนิยมของคนเมืองอย่างเช่นชาวพนมเปญ คือ การใช้เวลาพักผ่อนในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ที่ศูนย์การค้า ในด้านบริการสุขภาพ พบว่า ชาวกัมพูชาเมื่อเจ็บป่วยเบื้องต้นจะซื้อยารับประทานเอง หากมีอาการเจ็บป่วยมากขึ้นจะพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ แม้ผลสำรวจพบว่าการตระหนักถึงการดูแลสุขภาพจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่ชาวกัมพูชานิยมออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ บางกลุ่มเริ่มบริโภคอาหารเสริมและวิตามินเป็นประจำ เพราะมีความเชื่อว่าผู้ที่มีรูปร่างดีและผิวสวยเป็นกลุ่มที่มีฐานะทางสังคม กอรปกับอิทธิพลของกระแสความนิยมเกาหลี ชาวกัมพูชาจึงยินดีจ่ายเพื่อความสวยความงาม นอกจากนี้กลุ่มที่มีฐานะดีนิยมไปตรวจสุขภาพประจำปีที่ต่างประเทศ โดยมีจุดหมายหลักคือ ไทย สิงคโปร์ และเวียดนาม และผลจากการที่ผู้บริโภคชาวกัมพูชาให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือ (Trustworthiness) การบริการสุขภาพจึงต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคให้ได้ นอกจากนี้การมีระบบบริหารจัดการที่ดี เป็นระบบ และทันสมัย เป็นอีกช่องว่างหนึ่งที่ควรเข้าไปเติมเต็ม
ในส่วนเมียนมาร์ พบว่า อัตราการเติบโตของจำนวนผู้เดินทางเข้าสู่ประเทศเมียนมาร์เพิ่มขึ้นมากในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีทั้งนักท่องเที่ยวและนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยวและโอกาสการค้าลงทุนภายหลังการเปิดประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวปัจจุบันอยู่ในช่วงของการพัฒนา และมีความขาดแคลนในเรื่องของที่พัก โดยผลวิจัยพบว่าพฤติกรรมการท่องเที่ยวของชาวเมียนมาร์นิยมเที่ยวทะเลในช่วงวันหยุดยาว เมื่อต้องการเที่ยวต่างประเทศมักจะเลือกภูมิภาคอาเซียน โดยใช้บริการของบริษัทตัวแทนการท่องเที่ยว การจองตั๋วผ่านอินเตอร์เน็ตเริ่มแพร่หลายมากขึ้น อย่างไรก็ดี พบว่า เมียนมาร์ยังขาดทักษะด้านบริหารจัดการ ต้องการระบบที่มีมาตรฐาน การฝึกอบรมพนักงาน และมาตรฐานการให้บริการที่มีแบบแผนที่ดี ซึ่งเป็นช่องว่างที่ต้องการการเติมเต็ม
ในส่วนการบริการสุขภาพ พบว่า ระบบการบริการสุขภาพยังต้องได้รับการพัฒนา แพทย์ชาวเมียนมาร์มีความสามารถสูงแต่มีจำนวนไม่เพียงพอ ชาวเมียนมาร์มักจะซื้อยารับประทานเองเมื่อเจ็บป่วยไม่รุนแรง และหากจำเป็นต้องพบแพทย์จะนิยมไปที่คลินิก อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่เห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพประจำปีและยินดีจ่ายเพื่อรับการบริการที่ดีกว่า และมีจำนวนไม่น้อยสนใจการดูแลผิวพรรณและความงาม ซึ่งความนิยมเกาหลีมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการบริโภคชาวเมียนมาร์ โดยช่องว่างการให้บริการด้านสุขภาพในเมียนมาร์ คือระบบบริหารจัดการที่ทำให้ผู้ให้บริการสามารถบริการได้สอดคล้องกับจำนวนผู้รับบริการ
จากที่ได้กล่าวมาเป็นผลวิจัยเพียงส่วนหนึ่งของ “CLMV Pulse ชีพจรอาเซียน ท่องเที่ยวและบริการสุขภาพ” รายงานฉบับเต็มได้เผยแพร่ทั้งรูปแบบหนังสือและ e-book ในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ท่านที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ www.ecberkku.com ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น โทร 043 202 566