กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เผยทางรอดอุตสาหกรรมยางพาราไทย ขานรับนโยบายรัฐบาลจัดทำโครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง กิจกรรมพัฒนายาง ปี 2558 มุ่งพัฒนากระบวนการผลิตยางพาราแบบครบวงจร เพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมพัฒนาต้นแบบ (Model) เพื่อนำไปขยายผลให้พื้นที่อื่นๆ ของประเทศให้มีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน นำร่องพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะละ สงขลา และสตูล) ผ่านกิจกรรมที่หลากหลาย อาทิ พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ พัฒนาสถานประกอบการ พัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการเพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ พัฒนาบุคลากรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตวัตถุดิบต้นน้ำตลอดจนการสร้างเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งนี้ ภายหลังการดำเนินการแล้ว 8 เดือน สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ พัฒนาสถานประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้รวมกว่า 21 กิจการ และ 21 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน พัฒนาบุคลากรในสถานประกอบและในวิสาหกิจชุมชน เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จำนวน 96 คน และ 384 คน และสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการต้นแบบให้เกิดขึ้นถึง 2 เครือข่าย ตลอดจนสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ยิ่งไปกว่านั้นสามารถแก้ปัญหายางพาราล้นตลาด ลดการนำเข้ายางพาราแปรรูปจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีและมั่นคงมากขึ้น อย่างไรก็ตามในปี 2559 กสอ. ได้เตรียมจัดทำโครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมยางพาราอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าขยายพื้นที่การดำเนินการเพิ่มมากขึ้นได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้
นางสาวนิสากร จึงเจริญธรรมรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.)เปิดเผยว่า ยางพารานับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยที่สร้างรายได้ให้ประเทศอย่างมหาศาล โดยผลผลิตยางพาราของไทยในช่วงปี 2557 ที่ผ่านมามีปริมาณกว่า 4.03 ล้านตัน เป็นผลผลิตจากภาคใต้ร้อยละ 70.72 หรือ 2.85 ล้านตัน (ที่มา: ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) โดยสามารถส่งออกได้ 3.77 ล้านตันตัวเลขการส่งออกดังกล่าวทำให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาตลาดต่างประเทศถึงประมาณร้อยละ 90 ขณะที่การใช้เองในประเทศมีเพียงร้อยละ 10 ของปริมาณยางทั้งหมดเท่านั้นด้วยเหตุนี้ทำให้ไทยไม่สามารถกำหนดราคาขายได้ ราคาขึ้นอยู่ประเทศคู่ค้าซึ่งมีความผันผวน โดยเฉพาะในช่วงปี 2556-2557 ที่ผ่านมา ที่ประเทศเพื่อนบ้านมีพื้นที่ปลูกยางเพิ่มมากขึ้นส่งผลต่อการแข่งขันด้านราคาก็รุนแรงขึ้นด้วย ประกอบกับขณะนี้บางอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนไปใช้ยางสังเคราะห์แทน เนื่องจากสามารถควบคุมต้นทุนการผลิตได้ง่ายกว่า ซึ่งมีผลต่อราคายางพาราที่ลดลงเรื่อยๆ ขณะที่มีปริมาณสินค้าเกินความต้องการ อาทิ ในตลาดส่งออกหลักอย่างจีนเริ่มผลิตยางพาราภายในประเทศได้เอง ลดการนำเข้าจากไทย ทำให้การส่งออกยางพาราของไทยมีปัญหา เกษตรกรต้องขายยางรมควันชั้น 3 ในราคาต่ำกว่าทุน โดยราคาตกลงมาต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 47 บาทในช่วงปลายปี 2557 จากเคยสูงสุดราคากิโลกรัมละ 110 บาทในปีก่อนหน้า ในขณะที่ต้นทุนยางพารามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้รายได้ของเกษตรกรมีความผันผวน และได้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร กระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจและปากท้องของเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราเป็นอย่างมาก จากปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าว รัฐบาลได้มีนโยบายเน้นรักษาเสถียรภาพ ชดเชยและสนับสนุนรายได้ให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง อาทิ โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการชดเชยรายได้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง เป็นต้น
นางสาวนิสากร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ขานรับนโยบายของรัฐบาล ได้จัดโครงการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ปี 2558 โครงการดังกล่าวมุ่งเน้นเพื่อพัฒนากระบวนการผลิตยางพาราแบบครบวงจร เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราอย่างเป็นระบบตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยเน้นการต่อยอดการผลิตในเชิงนวัตกรรม เป็นการพัฒนาที่ต้นแบบ(Model) เพื่อนำไปขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ของประเทศให้มีมีศักยภาพและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนเพื่อส่งเสริมการนำยางพาราในประเทศไปใช้ผลิตผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มเชิงนวัตกรรม แทนการส่งออกวัตถุดิบซึ่งจะช่วยให้ราคายางพาราฟื้นตัวดีขึ้น และลดการนำเข้ายางพาราแปรรูป ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา และสตูล) มุ่งพัฒนาทั้งในด้านของผลิตภัณฑ์ สถานประกอบการ บุคลากร และสนับสนุนการสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงเครือข่ายในระบบห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ผ่านกิจกรรม ดังนี้
- พัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์
- พัฒนาสถานประกอบการ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 21 กิจการ และ 21 กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ตามลำดับ
- พัฒนาบุคลากรในสถานประกอบและในวิสาหกิจชุมชน เพื่อการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ จำนวน 96 คน และ384 คน ตามลำดับ
- สร้างเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมในผลิตภัณฑ์ต้นแบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยาง เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มและสร้างอำนาจต่อรอง จำนวน 3 เครือข่าย
ซึ่งการดำเนินการมาระยะเวลากว่า 8 เดือนผลเป็นที่น่าพอใจ สามารถแก้ปัญหายางพาราล้นตลาดและลดการนำเข้ายางพาราจากต่างประเทศเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นและมั่นคงมากขึ้น ตลอดจนสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20-30 ผ่านการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการยางพาราไทย ให้เกิดการแปรรูปยางพาราเพื่อใช้อุตสาหกรรมต่างๆ มากขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมยางยืดและยางรัดของ อุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและอุปกรณ์กีฬา ซึ่งส่วนใหญ่อุตสาหกรรมเหล่านี้จะนำเข้าผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราจากต่างประเทศ นางสาวนิสากรกล่าว
สำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางนั้น ในปี 2559 กสอ. ได้มีนโยบายในการพัฒนาและส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางพาราต่อไป ภายใต้โครงการเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง โดยมีการขยายพื้นที่ดำเนินการจาก 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา สตูล) เป็นการดำเนินการในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ โดยตั้งเป้าพัฒนาผู้ประกอบการทั้งที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และวิสาหกิจชุมชน ทั้งนี้จะดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการในหลายๆด้าน อาทิ ผลิตภาพ ผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต การตลาด เป็นต้น ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ พัฒนาสถานประกอบการ พัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างเครือข่ายของกลุ่มอุตสาหกรรม เป็นต้น นางสาวนิสากร กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน นางพวงทิพย์ เลิศบรรจง ผู้ประกอบการ บริษัท จะนะน้ำยาง จำกัด ผู้ได้รับการพัฒนาด้านผลิตภัณฑ์ กล่าวว่า จะนะน้ำยาง เป็นบริษัทผู้ผลิตน้ำยางข้น และยางแท่งได้เข้าร่วมโครงการค่าใช้จ่ายในการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมยาง ปี 2558 กับกสอ. เพื่อต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย สามารถขยายโอกาสทางการตลาด และกลุ่มผู้บริโภคให้กว้างขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ กสอ.โดยที่ปรึกษาได้นำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบหลากหลายผลิตภัณฑ์ ซึ่งบริษัทได้เลือกผลิตภัณฑ์กาวน้ำยางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เพื่อแปรรูปน้ำยางข้นที่บริษัทมีอยู่จำนวนมาก โดยระหว่างการร่วมโครงการที่ปรึกษาได้เข้ามาให้คำปรึกษา แนะนำ ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกน้ำยาง ที่จะนำมาเป็นวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และการเติมสารเคมีต่าง ๆ การทดลองในห้องปฏิบัติการ การทดลองผลิตจริง เพื่อให้ได้กาวน้ำยางที่มีคุณภาพดีที่สุด กาวน้ำยางมีประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมแฟชั่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนังและรองเท้า เป็นต้น แม้จะสามารถพัฒนากาวน้ำยางได้แล้ว บริษัทยังมีความต้องการที่จะพัฒนาน้ำยางเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก นอกจากนี้บริษัทยังต้องการความรู้ และทิศทางการตลาด เพื่อขยายผลผลิตออกสู่ตลาดให้มากขึ้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีต่อๆไป กสอ. จะมีโครงการดีๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมยางพาราได้มากขึ้นอีก จนสามารถส่งออกได้ในระดับนานาประเทศ
ด้าน นายวัฒนา เรืองมาก ผู้ประกอบการในกลุ่มสหกรณ์เกษตรรัตภูมิ จำกัด ผู้ได้รับการพัฒนาด้านวัตถุดิบต้นน้ำ กล่าวว่า สหกรณ์เกษตรรัตภูมิก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 โดยเป็นสหกรณ์การเกษตรที่ส่งเสริมและเผยแพร่ความรู้อาชีพทางการเกษตรแก่สมาชิก ดำเนินธุรกิจรับฝากและสินเชื่อ บริการรับฝากเงินและให้สมาชิกกู้เพื่อลงทุนในอาชีพเกษตรกรรม และธุรกิจรวบรวมผลิตผลการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของสมาชิกอาทิ การรวบรวมน้ำยางสดจากสมาชิกและผู้ผลิตรายย่อยในราคายุติธรรม เพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกร โดยปัจจุบันสหกรณ์ดังกล่าวมีสมาชิกจำนวน 3,000 ครัวเรือนในพื้นที่ อ.รัตภูมิ มีรายได้ประมาณ 135.50 ล้านบาทต่อปี(ข้อมูล: ปี 2555)
การเข้าร่วมโครงการค่าใช้จ่ายการพัฒนาเพิ่มมูลค่ายางและผลิตภัณฑ์ยาง กิจกรรมพัฒนาอุตสาหกรรมยางนั้น สหกรณ์ฯได้เข้าร่วมด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน ซึ่งช่วยให้ได้รับความรู้มากมาย ไม่ว่าจะในด้านการปรับแผนการดำเนินงาน การวางรูปแบบกระบวนการผลิตที่สามารถช่วยในการลดต้นทุน ตลอดจนการศึกษาข้อมูลของตลาดเพื่อนบ้านและประเทศเป้าหมายอื่นๆ เพื่อส่งออก โดยขณะนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างฐานข้อมูลให้เพียงพอ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กสอ. จะดำเนินโครงการดังกล่าวนี้อย่างต่อเนื่องเพื่อสหกรณ์จะได้มีที่ปรึกษาในระหว่างการดำเนินการจริงต่อไป นายวัฒนา กล่าว
สำหรับผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปสามารถสอบถามเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ได้ที่ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ถนนพระรามที่ 6 กรุงเทพฯ โทรศัพท์ 0 2202 4414-18 หรือเข้าไปที่ www.dip.go.th หรือwww.facebook.com/dip.pr