กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--TCELS
ด้วยสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-based Learning) เพื่อยกระดับการเรียนรู้ของประชาชนไทยตลอดช่วงชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของรัฐบาลในการพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน เเละเพื่อให้การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการบริหารสบร. จึงมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง เพื่อ กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ทั้งในด้านการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการเรียนรู้สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย การพัฒนาเครือข่าย และการเผยแพร่องค์ความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายและสาธารณะในวงกว้าง พร้อมติดตามและผลักดันนโยบายและการดำเนินงานในด้านต่างๆ ของงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง ทั้งงานพัฒนาองค์ความรู้ งานพัฒนาเครือข่าย และงานเผยแพร่องค์ความรู้สู่สาธารณะในวงกว้าง
รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และอนุกรรมการขับเคลื่อนงานจัดการเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง สบร. แสดงทัศนะถึงสมองได้อย่างน่าสนใจว่า หลายคนมักเปรียบเด็กเป็นผ้าขาว ซึ่งหมายความว่า ถ้าเราสอนเด็กเหมือนกัน ๆ ให้ความรักความอบอุ่นเท่าเทียมกัน เด็กทุกคนก็น่าที่จะมีทักษะความสามารถคล้ายคลึงกัน เป็นเด็กที่ได้รับความอบอุ่นเท่า ๆ กัน ปัญหาสังคมเกี่ยวกับพฤติกรรมของเด็กก็ไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่ตามหลักการของ BBL แล้ว เด็กไม่ใช่ผ้าขาวอย่าเข้าใจผิด การเรียนรู้ของเด็กแต่ละคน และละช่วงวัยไม่เหมือนกัน และแต่ละช่วงวัยการรับรู้ก็ต่างกัน เด็กวัย 0-3 ขวบ เป็นวัยที่ไม่สามารถแยกออกจากพ่อแม่และคนเลี้ยงดูได้ ไม่สามารถแยกแยะเรื่องจริงออกจากจินตนาการได้ เด็กวัย 3 ขวบ สามารถบูรณาการเป็นเรื่องราวได้แต่ยังอยู่ในวงแคบไม่ห่างไกลจากชีวิตมากนัก ในขณะที่วัยรุ่น เป็นวัยที่ต้องการสิ่งท้าทายประลองพลังต้องการแสดงความคิดเห็นเป็นวัยที่เราไม่ควรปิดกั้นศักยภาพในความคิดและการแสดงออก
สิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ไม่ว่าจะเป็น ผลของการพัฒนานวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง การทำสงคราม และอีกหลายอย่างที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากประดิษฐกรรมของสมอง ดังนั้นสมองจึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทั้งซีกซ้ายที่เป็นเรื่องของศาสตร์ เน้นทักษะรู้คิด และซีกขวาเป็นเรื่องของศิลป์ซึ่งเกี่ยวข้องกับอารมณ์และความรู้สึก หากสามารถผนวกทักษะรู้คิดและมีจิตสำนึกทั้งต่อตัวเองและสังคมแล้วแสดงว่าสมองได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพสังคมก็จะมีแต่ความสงบสุขประเทศชาติก็จะสงบสุข หากเปรียบชีวิตเหมือนถนน ซึ่งอาจมีทั้งเรียบ และขรุขระ บางพื้นที่เป็นถนนลูกรัง การพัฒนาสมองอย่างเต็มศักยภาพ โดยใช้ ทักษะ รู้คิด และจิตสำนึก ในการจัดการกับปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งเปรียบเสมือน มีทั้งคันเร่ง และทั้งเบรก ก็จะทำให้เด็กสามารถผ่านถนนในทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในโอกาสที่ สบร. ดำเนินงานด้านการพัฒนาสมองครบ 10 ปี จึงจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-based Learning : BBL) ในวันที 22 สิงหาคม 2558 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งรศ.นพ.สุริยเดว จะร่วมบรรยายในหัวข้อ การจัดการเรียนรู้ตามหลักการสมองวัยรุ่น และการพัฒนาสมองตามหลัก BBL รวมทั้งวิทยากรท่านอื่น ๆ อีกมากมายย ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมงานและดูรายละเอียดได้ที่ www.okmd.or.th หรือ โทร.02-7458004