กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--TCELS
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) หรือ สบร. เดินหน้างานพัฒนาสมอง เร่งสร้างโอกาสและสังคมแห่งการเรียนรู้ เตรียมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ 10 ปี การเรียนรู้ตามหลักการพัฒนาสมอง (Brain-baseed Learning) ถกประเด็นหลักการสมองตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงวัยทำงาน เน้นทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต วางแผนป้องกันพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งเด็กแว๊น สก๊อย แม่วัยใส พร้อมจัดแสดงนิทรรศการ โดยในงานมีกูรูดังระดับชาติให้ความรู้เต็มรูปแบบ 22 สิงหาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ศ.คลินิก พญ.วินัดดา ปิยะศิลป์ รองประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะร่วมเป็นวิทยากรภายในงาน กล่าวว่า การเข้าใจธรรมชาติของเด็ก การเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กไปตามหลักการพัฒนาสมอง มีความสำคัญมาก เด็กเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่เรียนรู้ด้านถูกหรือผิดเข้าไป กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ในห้างสรรพสินค้า ทุก ๆ ที่ ที่เด็กไปเกี่ยวข้อง
สมองประกอบด้วยการรับรู้ การคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ เชื่อมโยง ประสานข้อมูล แปลผล เก็บสะสมในความทรงจำ และแสดงออก สมองจะทำงานดีมากในสภาวะที่ร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง จิตใจสงบและมีความสุขการสอนไปตามธรรมชาติเด็ก (ชีวิตเด็กแต่ละช่วงมีลักษณะเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน) และผู้สอนเข้าใจเด็ก เข้าใจจังหวะการสอน เช่น เมื่อร่างกายพร้อม อยู่ในภาวะสมดุล สภาพแวดล้อมเหมาะสม จิตใจสงบ เด็กจะสามารถเรียนรู้ได้ดีที่สุด ดังนั้น ร่างกาย จิตใจ อวัยวะที่พัฒนา ร่วมกับนิสัยที่ถูกบ่มเพาะให้เชื่อฟัง อดทน มีวินัย รับผิดชอบ จะส่งเสริมให้เด็กมีความสุข สนุกในการเรียนรู้และอยู่ในขบวนการการเรียนรู้ได้ดีและนาน
เช่นเด็กส่วนใหญ่อายุ 7 ปีจะเป็นช่วงที่สมองทำงานได้ดีมาก จึงพร้อมในการเรียนรู้ ใช้อวัยวะในการรับรู้ และใช้มือคล่อง จึงเป็นช่วงที่ฝึกอ่าน เขียนได้จริงจัง แต่ถ้าเอาเด็กอายุ 6 ปีมาเรียนอย่างจริงจัง ก็จะเห็นว่าเด็กส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ไปตามครูสอนได้ แต่จะมีเด็กอีกกลุ่มหนึ่งที่ติดตามการเรียนไม่ทัน ถูกลากให้เรียน โดยที่โดนดุ ว่า เรียนพิเศษเพิ่ม เกิดอารมณ์ไม่ดี หงุดหงิดทั้งเด็ก พ่อแม่ และครูต่อกัน ทำให้บรรยากาศในการเรียนเสียหาย และถ้าไม่สนใจไปฝืนให้เด็กเรียนต่อทั้งๆที่ตามไม่ทัน โดยไปยึดมั่นว่าต้องเรียนไปตามอายุ ตามกลุ่มเพื่อน ห้ามซ้ำชั้น โดยไม่สนใจว่าความสามารถของเด็กไปต่อไม่ได้ เพียงแค่นี้ก็ทำให้เกิดปัญหาในเด็กกลุ่มที่เรียนไม่ทันนี้มากมาย ในเมื่อคนเราทุกคนหนีทุกข์ อยากที่จะมีความสุข จึงเห็นว่าเด็กกลุ่มใหญ่กลุ่มหนึ่งที่พบความทุกข์จากการเรียน หันไปหาสิ่งที่พวกเขาจะมีความสุข แค่ชั่วคราวก็ยังดี จึงเป็นจุดขึ้นต้นของปัญหาสังคม
ดังนั้น ในกลุ่มเด็กมีปัญหา (ซั่งมักจะเป็นมุมมองของผู้ใหญ่ที่มองว่าเด็กมีปัญหา) มุมหนึ่งเห็นว่าเด็กสมัยนี้แย่มาก ๆ อีกมุมหนึ่งมองว่าเด็กอาจอยู่ในภาวะลำบากต้องการความช่วยเหลือ หรือในอีกมุมหนึ่งว่าปัญหาเด็กเป็นกระจกสะท้อนปัญหาของผู้ใหญ่ หรือสะท้อนว่าระบบที่เราจัดให้เด็กขาดความหลากหลาย หรือระบบที่เรามีอยู่นี้ส่งเสริมเด็กได้บางกลุ่มเท่านั้น ยิ่งมีเด็กที่มีปัญหามากขึ้นจึงสะท้อนว่าเราช่วยเหลือเด็ก กลุ่มใหญ่ไม่ได้เลยหรือช่วยได้น้อยมาก ถ้าเข้าใจเด็ก คือ เข้าใจธรรมชาติของเด็ก คือเข้าใจสมอง ความรู้สึกนึกคิดของเด็ก จึงจะเป็นรากฐานในการให้ความรู้ รวมทั้ง ช่วยเหลือแก้ไขปัญหา และในที่สุดเด็กก็กลับมาแสดงความสามารถในตัวในทิศทางที่เหมาะสมได้
พญ.วินัดดา จะร่วมเสวนาในเรื่อง เข้าใจพฤติกรรมวัยรุ่น “เด็กแว๊น และเด็กสก๊อย” ในวันที่ 22 สิงหาคม 2558 รวมทั้งวิทยากรท่านอื่น ๆ อีกมากมาย ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมงานและดูรายละเอียดได้ที่ www.okmd.or.th หรือทางโทร 02 745 8004