กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน
รศ.ดร.เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์(Master Poll) เรื่อง ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศในสายตาของแกนนำชุมชน : กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,016 ตัวอย่าง โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบใช้ความน่าจะเป็นทางสถิติจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลแกนนำชุมชนทั่วประเทศ รวบรวมโดย ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน ดำเนินโครงการในวันที่ 14-16 สิงหาคม 2558
ผลสำรวจการติดตามข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อมวลชนในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 54.3 ระบุติดตามทุกวัน/เกือบทุกวัน ในขณะที่ร้อยละ 35.0 ระบุติดตาม 3-4 วัน ร้อยละ 8.9 ระบุติดตาม 1 – 2 วัน และ ร้อยละ 1.8 ระบุไม่ได้ติดตามเลย
เมื่อสอบถามแกนนำชุมชนเกี่ยวกับการรับทราบข่าวกรณีสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช. ได้ส่งมอบแผนการปฏิรูปประเทศต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้นพบว่าแกนนำชุมชนร้อยละ 69.4 ระบุรับทราบข่าวนี้แล้วในขณะที่ร้อยละ 30.6 ระบุยังไม่ทราบข่าว/เพิ่งทราบ
ทั้งนี้ เมื่อสอบถามต่อไปถึงความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล และ คสช.ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศตามแผนปฏิรูปประเทศของ สปช. นั้นพบว่า แกนนำชุมชน ร้อยละ 62.9 ระบุเชื่อมั่น ในขณะที่ร้อยละ 34.0 ระบุว่ายังไม่แน่ใจ และร้อยละ 3.1 ระบุไม่เชื่อมั่น โดยให้เหตุผลว่า เป็นเพราะยังมีความขัดแย้งอยู่ ยังไม่เห็นความคืบหน้าหรือการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมชัดเจน แนวทางการทำงานยังไม่ชัดเจน อาจจะทำได้ แต่คงไม่สำเร็จเพราะมีเวลาน้อย ยังไม่เคยเห็นว่าจะมีรัฐบาลชุดไหนที่จะสามารถทำได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงความพร้อมในการสนับสนุนรัฐบาล และคสช.ในการเดินหน้าปฏิรูปประเทศนั้นพบว่า แกนนำชุมชนเกือบร้อยละร้อย หรือร้อยละ 97.5 ระบุพร้อมที่จะสนับสนุน ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 2.5 เท่านั้นที่ระบุว่า ยังไม่พร้อม โดยให้เหตุผลสามารถสรุปได้ว่า ยังไม่รู้รายละเอียดของการปฏิรูป ไม่มีข้อมูล ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ สถานการณ์ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน ไม่รู้ว่ารัฐบาลและ คสช.จะเอาจริงเอาจังแค่ไหน
นอกจากนี้เมื่อสอบถามต่อไปถึงความรู้สึกกังวลถึงความต่อเนื่องในการปฏิรูปประเทศหากรัฐบาลและ คสช.หมดวาระแล้วนั้นพบว่า แกนนำชุมชนประมาณ 2 ใน 3 หรือร้อยละ 66.3 ระบุรู้สึกกังวล เพราะ ไม่เชื่อมั่นรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากนักการเมือง หากเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีคงไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ไม่มั่นใจในเสถียรภาพการเมืองของประเทศไทย กลัวจะซ้ำรอยเดิม กลัวว่าเมื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ จะมีการเปลี่ยนนโยบายใหม่อีก กลัวว่าจะเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบอีก ในขณะที่ประมาณ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 33.7 ระบุไม่รู้สึกกังวล เนื่องจากเห็นว่า ถ้ามีการกำหนดเป็นกฎหมายอย่างชัดเจนคงเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นแนวทางที่ดี มีประโยชน์จริง รัฐบาลใหม่คงยึดถือปฏิบัติเหมือนเดิม เชื่อมั่นในรัฐบาลชุดนี้ว่าจะสามารถกำหนดแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนได้ รวมถึงเชื่อมั่นในรัฐบาลชุดใหม่ ว่าจะสามารถดำเนินการต่อไปได้
ประเด็นสำคัญที่น่าพิจารณาคือ คณะผู้วิจัยได้สอบถามแกนนำชุมชนถึงการเปลี่ยนแปลงของ “รัฐบาล การเมือง และองค์กรอิสระ” ภายหลังที่มีคสช. และรัฐบาลชุดนี้ สิ่งที่แกนนำชุมชนเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ “ดีขึ้น” เรียงตามลำดับ ดังนี้ ความโปร่งใสของรัฐบาล ร้อยละ 77.0 ระบุดีขึ้น รองลงมาคือ รัฐบาลเป็นที่ไว้วางใจได้และเป็นที่พึ่งได้ ร้อยละ 71.2 ระบุดีขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีช่วยเหลือร่วมมือกันพัฒนาประเทศระหว่างรัฐบาล หน่วยงานราชการ และองค์กรเอกชน ร้อยละ 69.9 ระบุดีขึ้น ประชาชนได้รับการปฏิบัติด้วยความเสมอภาค เท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติร้อยละ 65.6 ระบุดีขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถถูกตรวจสอบได้ ร้อยละ 64.8 ระบุดีขึ้น ประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ ร้อยละ 64.5 ระบุดีขึ้น องค์กรอิสระสามารถถูกตรวจสอบได้ ร้อยละ 62.7 ระบุดีขึ้น
สำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ นั้นพบว่าร้อยละ 62.5 ระบุดีขึ้น ความตื่นตัวในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ร้อยละ 60.8 ระบุดีขึ้น ความรู้ความเข้าใจของประชาชนในเรื่องกฎหมาย ร้อยละ 60.2 ระบุดีขึ้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ./เทศบาล/อบต.) เป็นที่พึ่งได้เป็นที่ไว้วางใจได้ ร้อยละ 53.6 ระบุดีขึ้น องค์กรอิสระเป็นที่ไว้วางใจได้และเป็นที่พึ่งได้ ร้อยละ 52.6 ระบุดีขึ้น ในขณะที่การลดปัญหาความยากจนของประชาชนนั้น พบว่าร้อยละ 36.2 ระบุดีขึ้น ร้อยละ 48.8 ระบุไม่เปลี่ยนแปลง และร้อยละ 15.0 ระบุแย่ลง
ประเด็นสำคัญสุดท้าย คือเมื่อพิจารณาคะแนนความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชนเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศนั้น พบว่า คะแนนความเชื่อมั่นเฉลี่ยกรณี “การเมือง – รัฐบาล – องค์กรอิสระ จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น หากรัฐบาลและ คสช. เดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามแผนปฏิรูปประเทศของ สปช.” เท่ากับ 8.11 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน ความพึงพอใจต่อรัฐบาลและ คสช. ในการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานเพื่อการปฏิรูปประเทศ ได้ 8.07 คะแนน และความพึงพอใจต่อผลการดำเนินงานของสภาปฏิรูปแห่งชาติโดยภาพรวม ได้ 7.76 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน
คุณลักษณะทั่วไปของผู้ตอบแบบสอบถาม
แกนนำชุมชนร้อยละ 86.9 เป็นเพศชาย ในขณะที่ร้อยละ 13.1 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 7.7 มีอายุต่ำกว่า 40 ปี ร้อยละ 33.7 ระบุอายุ 40-49 ปี และร้อยละ 58.6 ระบุอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามระดับการศึกษาที่สำเร็จมาชั้นสูงสุดพบว่า ร้อยละ 34.3 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ต่ำกว่า ร้อยละ 49.0 สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/ป.ว.ช. ร้อยละ 4.1 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับอนุปริญญา/ป.ว.ส. ร้อยละ 12.6 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตามลำดับ
แกนนำชุมร้อยละ 76.8 มีอาชีพประจำคือเกษตรกร ร้อยละ 13.2 ระบุประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ในขณะที่ร้อยละ 10.0 ระบุมีอาชีพอื่นๆ อาทิ รับจ้าง ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และไม่ได้ประกอบอาชีพใดๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ต่อเดือนของครอบครัว พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 22.1 ระบุมีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 10,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 17.0 ระบุมีรายได้ครอบครัว 10,000–15,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 24.7 ระบุมีรายได้ 15,001-20,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่แกนนำชุมชนร้อยละ 36.2 ระบุมีรายได้ครอบครัวมากกว่า 20,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ