กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--TCELS
ในการบรรยายพิเศษ เรื่อง "บทบาทของมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมของประเทศ" ในการประชุมระดมสมอง คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยร่วมกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ครั้งที่23 ณ โรงแรมแชงกรีลา กรุงเทพฯ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ผลักดันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาประเทศสำหรับการลงทุนการสร้างความรู้ ในการวิจัยและนวัตกรรม โดยขณะนี้การลงทุนในภาพเอกชนดีขึ้นเป็นลำดับ ทั้งนี้จากการประชุมกับเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ทำให้ทราบว่ามีการสำรวจบริษัทภายในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ในปี พ.ศ. 2558 มีบริษัทที่ลงทุนด้านการวิจัยสูงเป็นประวัติการ สิ่งเหล่านี้สามารถบ่งบอกได้ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นถูกต้องแล้ว เช่นเดียวกับมาตรการลดหย่อนภาษี 300% เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง โครงการคูปองนวัตกรรมภาคเอกชนสนใจลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านบาท และหากมีการประเมินที่ดีปีต่อไปก็จะมีเงินทุนให้มากขึ้นโดยเฉพาะการสนับสนุนเอสเอ็มอี
เช่นเดียวกับโครงการ Talent Mobility ที่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 จนถึงขณะนี้ ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สถิติจากผู้ที่เข้าไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนมีจำนวน 100 คน ไม่นับรวมนักวิจัยที่เป็นนักศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกอีก 64 คน โครงการนี้บ่มเพาะทำให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างเครือข่าย การกระจายออกไปยังภูมิภาค และขณะนี้มีภาคเอกชนจำนวนไม่น้อยที่ให้ความสนใจในการเข้ามาลงทุนในการสร้างพื้นที่นวัตกรรมพิเศษ โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พยายามเร่งสร้างพัฒนาคนกำลังเพื่อรองรองรับโครงการดังกล่าว ที่จะมีการขยายการลงทุนด้านนวัตกรรมของไทย โดยทำควบคู่ไปกับเมกะโปรเจ็กต์ของรัฐบาล นอกจากนี้ กระทรวงวิทย์ฯ ก็พยายามทำให้เกิดภาพที่ชัดเจนของระบบมาตรฐานในประเทศไทยภายใต้โครงการ MSTQ ซึ่งหมายถีงการมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางอิเล็คทรอนิกส์ของระบบการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมให้ครบ จากความร่วมมือของกระทรวงต่างๆ
นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมขึ้น เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีซึ่งมีความโดดเด่น โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีการเกษตร และเทคโนโลยีด้านไอทีและชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อเป็นส่วนช่วยบ่มเพาะธุรกิจที่มีความสามารถ แต่อาจยังขาดสภาพคล่อง โดยรัฐบาลจะเตรียมงบประมาณปีละ 500 ล้านบาทเพื่อสมทบในกองทุนและพยายามหาภาคเอกชนที่สนใจลงทุนร่วมอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งกลไกนี้จะช่วยสนับสนุนธุรกิจเทคโนโลยีแล้ว และช่วยสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของธุรกิจเงินร่วมลงทุนไปพร้อมกัน
โดยภายหลังการบรรยายดังกล่าว ที่ประชุมได้อภิปรายถึงประเด็นการทำสังคมสร้างธุรกิจ เกิดขึ้นได้โดยอาจารย์และนักศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญาเอก มีความเข้าใจและมีแรงจะกระตุ้นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ในมหาวิทยาลัย เพราะเป็นศูนย์รวมของคนที่มีวิธีคิดนอกกรอบได้ได้โดยไม่มีขีดจำกัด แต่สิ่งที่เป็นปัญหาสำหรับประเทศไทยคือเราไม่มี Business Angel หากเราช่วยกันผลักดันได้ เราจะมีนักศึกษาที่จบระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ที่มีความคิดอยากเริ่มต้นและสามารถทำได้จริงโดยเร็วที่สุด สิ่งสำคัญคือราชการจะต้องเป็นตลาดเริ่มต้นของนวัตกรรม โดยเปลี่ยนจากการสนับสนุนเงินทุนมาเริ่มเป็นตลาดนวัตกรรม
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า ขณะนี้ นายกรัฐมนตรีได้เร่งพัฒนาสหกรณ์ให้มีความสำคัญมากขึ้นและทำอย่างไรที่จะให้นวัตกรรมที่เราทำกันอยู่จะสามารถทำให้สหกรณ์เข้ามาลงทุนโดยการซื้อหรือการพัฒนาต่อยอดแล้วนำเอาไปใช้ร่วมกัน และนายกรัฐมนตรีได้ฝากถึงเรื่องการประกอบการเพื่อตอบสนองสังคม (Social business) โดยเน้นการเรียนรู้ต้องทำบนโครงสร้างที่มีอยู่แล้ว ไม่ลงทุนเพิ่ม เช่น หน่วยงานของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มี สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) (สดร.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สามารถเข้ามาช่วยได้มาก สิ่งที่อยากเห็นคือศูนย์การเรียนรู้ที่มีวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด โดยขอให้ สกว. ช่วยพิจารณาในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯจะสนับสนุนเครื่องมือเพื่อส่งเสริมให้ชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ และสุดท้ายที่อยากเห็นคือ Talent Management System Thailand ในประเทศไทย เพราะมีการผลิตกันมาก เรื่องนักเรียนทุน เรื่องการสร้างคนแนวใหม่ แต่ปลายทางขาดคนจัดการซึ่งทำให้การลงทุนการพัฒนาคนยังไม่ดีเท่าที่ควร