กรุงเทพฯ--2 ก.ย.--JGSEE
นักวิจัย JGSEE ชี้เหตุไทยประสบปัญหาวิกฤติพลังงานบ่อยครั้ง เพราะขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านพลังงานด้านต่างๆ ส่งผลให้การพัฒนาพลังงานของประเทศไม่บรรลุวัตถุประสงค์ เผย JGSEE เร่งปั้นบุคลากรด้านพลังงานทดแทนในทุกๆด้าน ทั้งพลังงาน้ำ พลังงานลม เซลล์เชื้อเพลิง ไบโอดีเซล ฯลฯ หวังช่วยรัฐคิดค้นพลังงานใหม่ขึ้นทดแทน
ผศ.ดร.จำนง สรพิพัฒน์ ประธานสายวิชาพลังงาน บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้นพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี หรือ JGSEE ให้ความเห็นว่า ราคาน้ำมันดิบโลกน่าจะขึ้นสู่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงปลายปีนี้แน่นอน เนื่องจากขณะนี้ราคาน้ำมันขึ้นมาแตะที่ 60 เหรียญสหรัฐแล้ว และช่วงปลายปีเป็นฤดูหนาวที่ทั่วโลกจะใช้น้ำมันสูงขึ้นอยู่แล้ว จึงมั่นใจว่าราคาน้ำมันจะขึ้นไปสูงถึง 70 เหรียญสหรัฐแน่ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงประเทศไทยจำเป็นจะต้องมีมาตรการตั้งรับไว้ล่วงหน้า
"รัฐควรจะทบทวรการกำหนดราคาน้ำมันโลกใหม่ โดยไม่ควรอิงราคาสิงคโปร์ เนื่องจากขณะนี้เป็นช่วงวิกฤติน้ำมัน ราคาหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์เป็นราคาตลาดจร ซึ่งสะท้อนการเก็งกำไร ไม่ได้สะท้อนต้นทุนจริง นอกจากนี้จะเห็นว่าพลังงานจากชีวมวลเป็นพลังงานทางเลือกที่น่าสนใจที่จะเป็นพลังงานเสริมในภาวะวิกฤติเช่นนี้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการด้านวัตถุดิบการผลิต ตลอดจนแหล่งที่ตั้งโรงงานเพื่อไม่ให้เกิดการแก่งแย่งวัตถุดิบในพื้นที่ ในขณะที่บางพื้นที่ก็ล้นเกิน ซึ่งจะเห็นว่าการบริหารจัดการอย่างครบวงจรเป็นสิ่งสำคัญ”
รศ.ดร.อภิชัย เทิดเทียนวงษ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เซลล์เชื้อเพลิงเป็นพลังงานทางเลือกอีกชนิดหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะมีราคาแพงในขณะนี้ แต่รัฐจำเป็นต้องลงทุนด้านการวิจัยให้มากขึ้นนำพลังงานดังกล่าวมาใช้ต่อไปในอนาคต และเชื่อว่าในอนาคตพฤติกรรมการใช้พลังงานจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยใช้พลังงานจากน้ำมันเป็นหลักมาเป็นการใช้พลังงานแบบผสมผสาน พลังงานจากหลายๆแห่ง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละพื้นที่ ซึ่งพลังงานเหล่านี้อาจผสานกันระหว่างเชื้อเพลิงจากพืชผลการเกษตร ลม แสงอาทิตย์ และเชื้อเพลิงจากไฮโดรเจน เป็นต้น
รศ.ดร.สมรัฐ เกิดสุวรรณ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า เทคโนโลยีการเผาขยะอาจเป็นทางเลือกหนึ่งที่มุ่งเป้าไปในเรื่องของการกำจัดขยะให้มีประสิทธิภาพและได้พลังงานเป็นของแถมซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่รัฐควรสนับสนุน
ผศ.ดร.อุดมเกียรติ นนทแก้ว ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวว่า เรื่องพลังงานน้ำและลมเป็นสิ่งที่รัฐควรทำแต่ต้องคิดใหม่ โดยตัดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งพลังงานที่สิ้นเปลืองออกไป วิธีนี้หมายความว่าไม่ควรทำเป็นยูนิตใหญ่ๆ แต่ควรแยกแต่ละแห่งเป็นโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กเป็นอิสระต่อกัน เช่นการผลิตเพื่อชุมชน แต่อุปกรณ์ต้องราคาถูกและติดตั้งง่าย
ผศ.ดร.จำนง กล่าวต่อว่า นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานในด้านต่างๆแล้ว กำลังคนเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐต้องเร่งหาทางแก้ไข เนื่องจากการพัฒนาการใช้พลังงานจำเป็นต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เฉพาะ มีศักยภาพสูงที่จะเข้าถึงความรู้ในเชิงลึกได้ ซึ่งปัจจุบัน ประเทศไทยยังขาดแคลนบุคลากรทางด้านนี้อยู่เป็นจำนวนมาก โดยบุคลากรส่วนใหญ่ที่มีอยู่ ล้วนเป็นนักวิชาการ อาจารย์ รวมถึงนักวิจัย แต่ยังขาดแคลนบุคลากรในเชิงปฏิบัติที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานในภาคอุตสาหกรรม
“หลักสูตรบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้นพลังงานและสิ่งแวดล้อม หรือJGSEE จะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของประเทศได้ เนื่องจากเป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพทางด้านนี้โดยเฉพาะ อีกทั้ง JGSEE ยังเป็นหลักสูตรที่ทบวงมหาวิทยาลัยมีความจำนงให้จัดตั้งขึ้น เป็น 1 ใน 7 ศูนย์แห่งความเป็นเลิศ เพื่อยกระดับบัณฑิตศึกษา และที่ผ่านมา นักศึกษาที่จบจาก JGSEE ล้วนได้รับการยอมรับจากผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาพลังงานและสิ่งแวดล้อม”
นอกจากทุนที่ได้จากกระทรวงศึกษาธิการแล้ว ยังต้องขอบคุณกระทรวงพลังงาน โดยเฉพาะสำนักงานพลังงานและแผน ที่ได้ให้เงินจากกองทุนอนุรักษ์พลังงาน มาใช้เป็นทุนวิจัยและทุนเล่าเรียนของนักศึกษาที่นี่ด้วย เพราะฉะนั้น จึงถือเป็นจุดประสงค์โดยตรงของ JGSEE ที่ต้องการผลิตบุคลากรทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ออกมาป้อนภาครัฐ และภาคเอกชน
ปัจจุบัน นอกจากจะมีนักศึกษาจบใหม่จากปริญญาตรี สนใจเข้ามาสมัครแล้ว ยังมีเจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต หรือ กฟผ. เข้ามาเรียนในหลักสูตร JGSEE เพิ่มขึ้นด้วย ทั้งจากทุนที่ทาง JGSEE มีให้อยู่แล้ว 1 — 2 ทุน กับหน่วยงานด้านพลังงานทั้ง กฟผ. และ กฟภ. ก็ยังเจ้าหน้าที่ของ กฟผ. ขอสมัครเข้ามาเรียนเองด้วย ซึ่งขณะนี้ JGSEE ได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรให้มีความหลากหลายมากขึ้น หลักสูตรพลังงานสามารถรองรับทั้งผู้ที่ต้องการเรียนเพื่อสร้างประสบการณ์ด้านการวิจัย หรือผู้ที่ต้องการเสริมความรู้ด้านการบริหารจัดการพลังงาน
สำหรับกลุ่มเป้าหมายของหลักสูตรนี้คือนักศึกษาที่จบทางทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ และผู้ที่ทำงานในภาคเอกชนและรัฐบาล ซึ่งกลุ่มของภาครัฐนั้น ผศ.ดร.จำนง เห็นว่าเป็นกลุ่มที่ควรเพิ่มศักยภาพด้านการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นความต้องการของทั้งภาครัฐและเอกชน แต่กลับไม่ค่อยได้รับความสนใจเท่าที่ควร สำหรับหลักสูตรของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมนี้ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัครอยู่จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 รับสมัครทั้งระดับปริญญาโทและเอกทางด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม โดยนักศึกษาที่ได้รับการคัดเลือกจะมีทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนให้ด้วย สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายการศึกษา JGSEE โทร.โทร.0-2470-8337-8 ในเวลาราชการ หรือที่ www.jgsee.kmutt.ac.th e-mail academic@jgsee.kmutt.ac.th
สามารถคลิกดูภาพได้ที่ www.thaipr.net--จบ--