กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) เปิดเผยตัวเลขสำคัญจากงานวิจัย “ผู้หญิงกับความเป็นผู้ประกอบการ” พบแนวโน้มสำคัญชี้ว่าผู้ประกอบการผู้หญิงจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสังคมและเศรษฐกิจยุคใหม่ ด้านผู้อำนวยการระบุ การทำงานวิจัยร่วมกับ GEM เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัยกรุงเทพและเป็นหลักสูตรมาตรฐานระดับโลกที่พัฒนาร่วมกับ Babson College สถาบันอันดับหนึ่งด้านผู้ประกอบการจากสหรัฐอเมริกา ล่าสุด เตรียมเปิดรับนักศึกษาใหม่ MME รุ่นที่ 3 กันยายน ศกนี้
ดร.วุฒนิพงษ์ วราไกรสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) กล่าวว่า โครงการวิจัย Global Entrepreneurship Monitor (GEM) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยระดับโลกด้านความเป็นผู้ประกอบการ ประกอบด้วยสมาชิก 78 ประเทศทั่วโลก และ BUSEM เป็นสมาชิกแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ในปีที่ผ่านมาได้มีการศึกษาเรื่องเพศกับการเป็นผู้ประกอบการ พบตัวเลขในภาพรวมที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการหญิงประมาณ 126 ล้านคนทั่วโลกที่อยู่ในช่วงระยะแรกของการสร้างธุรกิจ ขณะที่จำนวน 96 ล้านคนเป็นผู้ประกอบการที่มีธุรกิจมั่นคงแล้ว แม้ยังมีความเหลื่อมล้ำทางเพศและโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการของผู้หญิงในบางประเทศจะยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมพบข้อบ่งชี้สำคัญว่าผู้ประกอบการผู้หญิงกำลังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสังคมและเศรษฐกิจยุคใหม่
สำหรับประเทศไทย มหาวิทยาลัยกรุงเทพทำการวิจัยพบว่า ไทยเป็น 1 ใน 6 ประเทศทั่วโลกที่สัดส่วนผู้ประกอบการชายและหญิงมีอัตราใกล้เคียงกัน อันเป็นผลมาจากค่านิยมทางสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น วัฒนธรรมที่ให้ความเคารพในสิทธิที่เท่าเทียมกันระหว่างชายหญิง ระดับการศึกษาที่สูงขึ้นและผู้หญิงมักจะเป็นผู้สืบทอดกิจการครอบครัวมากกว่า นอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจและตัวเงินแล้ว ผู้ประกอบการหญิงยังมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสังคมและความเป็นอยู่โดยรวม ผู้ประกอบการหญิงมีแนวโน้มตอบแทนสังคมในหลายรูปแบบ เช่น นำกำไรจากธุรกิจไปพัฒนาการศึกษา พัฒนาครอบครัวและชุมชนใกล้เคียง เป็นต้น
ดร.วุฒนิพงษ์ กล่าวอีกว่า BUSEM มีการทำวิจัยด้านผู้ประกอบการอย่างสม่ำเสมอ โดยทาง GEM จะมีหัวข้อให้สมาชิกทั่วโลกได้ร่วมดำเนินการวิจัย ซึ่งในปีที่ผ่านมาจะมีหัวข้อเรื่องผู้ประกอบการหญิงเป็นส่วนหนึ่งของการวิจัยด้วย โดยผลที่ได้จากการวิจัยนั้น ทางคณะฯได้นำไปเป็นข้อเสนอแนะให้กับหน่วยงานภาครัฐนำไปใช้เพื่อหาแนวทางสนับสนุนผู้ประกอบการหญิงเพื่อเสริมสร้างพลังทางเศรษฐกิจต่อไป นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่นๆ ที่กำลังดำเนินงานและนำผลวิจัยไปใช้พัฒนาการเรียนการสอนในหลักสูตรด้วย เช่น การเติบโตของธุรกิจจากธุรกิจขนาดเล็กไปเป็นธุรกิจขนาดกลาง การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ และพุทธศาสนากับการทำธุรกิจ เป็นต้น
“ งานวิจัยจำนวนมากจากโครงการ GEM Thailand ถูกใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อให้นักศึกษาในหลักสูตรปริญญาโท MME ของ BUSEM ได้นำมาถกเถียงและวิเคราะห์ กระบวนการเรียนรู้นี้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาหลักสูตรการสร้างผู้ประกอบการของเรา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักศึกษาเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เปิดหลักสูตรในปี 2557 โดยนักศึกษารุ่นแรกเป็นผู้หญิงราว 30% และเพิ่มจำนวนเป็น 60% ในรุ่นที่สอง และเริ่มมีนักศึกษาจากต่างประเทศให้ความสนใจ และจากการโรดโชว์หลักสูตร MME กับนักศึกษาในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน คาดว่าการเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 ในเดือนกันยายนนี้ จะมีนักศึกษาจากต่างประเทศให้ความสนใจมาเรียนเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นการขยายเครือข่ายของนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่สนใจด้านความเป็นผู้ประกอบการให้กว้างขึ้น” ดร.วุฒนิพงษ์ กล่าว
หลักสูตร Master of Management in Entrepreneurship (MME) เป็นหลักสูตรปริญญาโทที่เกี่ยวกับผู้ประกอบการธุรกิจโดยตรง เป็นเพียงหลักสูตรเดียวในประเทศไทยและในอาเซียนที่พัฒนาขึ้นภายใต้ความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกรุงเทพและ Babson College, USA ซึ่งเป็นสถาบันที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสถาบันการศึกษาอันดับ 1 ของโลกด้านการพัฒนาผู้ประกอบการ
หลักสูตรนี้มีความแตกต่างจากหลักสูตรปริญญาบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต (Master of Business Administration : MBA) หลักสูตรอื่นๆในปัจจุบันที่จะมุ่งเน้นการเรียนเพื่อนำความรู้ที่ได้ไปทำงานในฐานะพนักงานในองค์กร แต่หลักสูตร MME ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่สนใจจะสร้างกิจการของตนเอง เนื้อหาของหลักสูตรเน้นการลงมือสร้างและทำธุรกิจได้จริง ใช้เวลาเรียน 1 ปี โดยนักศึกษาจะใช้เวลา 2 เดือนในการศึกษาที่ Babson College, USA เพื่อปรับแนวความคิดและวิสัยทัศน์ในการสร้างธุรกิจของตนเอง รวมทั้งมีโอกาสได้สัมผัสกับผู้ประกอบการในแถบบอสตัน ซึ่งถือเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจชั้นนำของสหรัฐอเมริกา สอนร่วมกันโดยคณาจารย์จาก Babson College และคณาจารย์นักธุรกิจตัวจริงชาวไทยและชาวเอเชีย ด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างการเรียนทฤษฎีกับการปฏิบัติจริง (Co-curricular Education) นักศึกษาสามารถนำความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการสร้างธุรกิจ ลงมือสร้างแผนธุรกิจฉบับสมบูรณ์ที่ใช้ได้จริง และนำไปเสนอต่อนักลงทุนซึ่งมหาวิทยาลัยกรุงเทพจะเชิญมารับฟังการนำเสนอแผนธุรกิจเพื่อหาแหล่งเงินทุนให้ และหากแผนธุรกิจมีแหล่งเงินทุนให้การสนับสนุน นักศึกษาก็สามารถเริ่มดำเนินธุรกิจของตนเองตามแผนที่วางไว้ได้ทันที
คณะการสร้างเจ้าของธุรกิจและบริหารกิจการ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ (BUSEM) เตรียมเปิดรับสมัครนักศึกษาหลักสูตร MME ในรุ่นที่ 3 แล้วตั้งแต่เดือนกันยายน ศกนี้ ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดหลักสูตรติดต่อได้ที่ 0-2350-3500 ต่อ 1795, 1580 รายละเอียดเพิ่มเติม http://busem.bu.ac.th/
ติดต่อ:
หมวดข่าว: การศึกษา
คำค้น: มหาวิทยาลัยกรุงเทพ