PwC คาดตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกแตะ 15 ล้านล้านบาทในปี 62 หลังดีมานต์ระบบเซ็นเซอร์บูมตามยุคดิจิทัล

ข่าวเทคโนโลยี Friday August 21, 2015 14:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--PwC ประเทศไทย PwC เผยมูลค่าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกในปี 2562 แตะ 15 ล้านล้านบาท หลังปรากฏการณ์ Internet of Things (IoT) และอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ สองเทคโนโลยีสุดล้ำในยุคดิจิทัลดันความต้องการระบบเซ็นเซอร์ทั่วโลกพุ่ง ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ยังเป็นกลุ่มหลักที่ผลักดันตลาดเซมิคอนดักเตอร์ให้เติบโตต่อเนื่อง แนะผู้ประกอบการกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปรับตัวให้ทันเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) เปิดเผยถึงผลสำรวจ The Internet of Things: The next growth engine for the semiconductor industry ว่า ปรากฏการณ์ Internet of Things (IoT) หรือ การที่เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่ออุปกรณ์และเครื่องมือต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ ตู้เย็น โทรทัศน์ และอื่นๆ เข้าไว้ด้วยกัน โดยเครื่องมือเหล่านี้จะสามารถเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ต และการเติบโตของตลาดอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (Wearables) จะเป็นสองปัจจัยทำให้ความต้องการเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ หรือ สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ซึ่งเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติในการนำไฟฟ้ามักใช้ทำอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ทั่วโลกเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ภายในปี 2562 ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกจะมีมูลค่าถึง 4.32 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 15.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (Compound Annual Growth Rate) ที่ 5.2% “เรามองว่าปรากฏการณ์ IoT และกระแสความนิยมในการนำอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะมาใช้จะเป็นสองปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้ธุรกิจต่างๆ ทั่วโลกยิ่งเติบโตในระยะต่อไป ไม่เฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาพอุตสาหกรรมอื่นๆโดยรวม” นางสาว วิไลพร กล่าว “ภาคธุรกิจไทยจึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาปรับใช้กับสินค้าและบริการของตนอย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำกำไรและช่วยให้องค์กรโดดเด่นเหนือคู่แข่งรายอื่น และเป็นที่จับตามองของลูกค้าหัวสมัยใหม่ที่คลั่งไคล้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้า” ในปัจจุบัน ผู้บริโภคและธุรกิจเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความฉลาดมากยิ่งขึ้น (Smart Devices) เพื่อเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เป็นที่ต้องการอย่างแพร่หลาย ดังนั้น ธุรกิจจะต้องคิดนอกกรอบโดยนำแนวคิด IoT มาใช้กำหนดกลยุทธ์ และบรรจุเป็นหนึ่งในแผนธุรกิจ เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้เหนือคู่แข่ง เพราะการแข่งขันในยุคต่อไป คือ การหลอมรวมเทคโนโลยี เพื่อเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย สำหรับประโยชน์สำคัญของระบบเซ็นเซอร์ คือ การเป็นตัวรับรู้ หรือ ตัวตรวจวัดปริมาณทางกายภาพแล้วแปลงเป็นสัญญาณที่สามารถอ่าน เก็บข้อมูลการทำงาน และนำมาประมวลผลต่อได้ โดยปัจจุบัน มีการนำเซ็นเซอร์มาใช้ในหลากหลายรูปแบบ ครอบคลุมตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ได้แก่ สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ รวมไปถึงเครื่องมือ เครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรม เช่น เครื่องจักรกลที่ใช้ติดตั้งในเครื่องบินพาณิชย์ แท่นขุดเจาะน้ำมัน และสิ่งของที่สามารถเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตหรือพัฒนาให้มีฟังก์ชั่น IoT อื่นๆ จากผลสำรวจคาดการณ์ว่า ภายในปี 2562 ยอดขายระบบเซ็นเซอร์ทั่วโลกและแอคชูเอเตอร์ (Actuators) จะสูงถึง 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือ ราว 5 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ 10.4% ตลาดรถไฮบริด-รถยนต์ไฟฟ้าหนุนดีมานต์เซมิคอนดักเตอร์ นอกจากนี้ ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าและรถไฮบริด (Electric and Hybrid cars) ยังเป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันการเติบโตของตลาดเซมิคอนดักเตอร์ในช่วงที่ผ่านมา โดยส่วนประกอบเซมิคอนดักเตอร์ในรถยนต์ประเภทนี้เปรียบเทียบกับพาหนะทั่วไปจะอยู่สูงกว่า 1.5 ถึง 3 เท่า โดยภายในปี 2562 คาดว่ายอดขายของเซมิคอนดักเตอร์ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดนี้จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 20.5% ต่อปี “แม้การผลิตรถยนต์ในรูปแบบดั้งเดิมจะยังเป็นปัจจัยหลักที่หนุนให้อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เติบโต แต่ในอนาคตเราเชื่อว่า บรรดาค่ายรถ และผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อป้อนโรงงานรถยนต์โดยตรง หรือ OEMs จะยิ่งหันมาประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลกับยานพาหนะและสินค้าของตนมากขึ้น ไม่เพียงแต่การผลิตรถไฮบริดที่ช่วยประหยัดน้ำมันและลดมลพิษในไอเสียเท่านั้น แต่รวมถึงระบบเซ็นเซอร์ภายในต่างๆ เช่น การติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ในรถ หรือ คาร์พิวเตอร์ เทคโนโลยีการสื่อสารในรถยนต์ผ่านระบบเทเลมาติกส์ ระบบรถยนต์อัจฉริยะ ไปจนถึงเทคโนโลยียานยนต์แบบไร้คนขับ” นางสาว วิไลพร กล่าว ภายในปี 2562 PwC คาดว่า จีนจะยังคงเป็นผู้นำตลาดเซมิคอนดักเตอร์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีอัตราการเฉลี่ยเติบโตต่อปีที่ 11.2% ขณะที่ยอดขายรถยนต์ขนาดเบา (Light vehicle) ภายในประเทศของอินเดียก็เริ่มเห็นสัญญาณกระเตื้องขึ้น หลังประสบปัญหายอดขายลดลงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รายงานยังระบุว่า แม้ประเทศเศรษฐกิจในกลุ่ม BRICs อย่าง บราซิลและรัสเซียจะเห็นการชะลอตัว ตลาดที่คาดว่าจะมีการเติบโตสูงในระยะข้างหน้า ได้แก่ เม็กซิโก โปแลนด์ อินโดนีเซีย ตุรกี และไทย เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ปรับเป้ายอดการผลิตรถยนต์รวมในปีนี้ลงเหลือ 2.05 ล้านคัน จากเดิม 2.15 ล้านคัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9%) ในขณะที่ ยอดการผลิตรถยนต์ของไทย เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อยู่ที่ 151,698 คัน ลดลง 5.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ปริมาณการผลิตรถยนต์รวมตั้งแต่ต้นปีนี้ลดลง 1.8% เป็น 935,251 คัน อย่างไรก็ดี นางสาววิไลพรมองว่า แนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ไทยจะยังเติบโตได้ในระยะยาว เนื่องจากไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและประกอบรถยนต์ชั้นนำของภูมิภาคอาเซียน และเป็นฐานการส่งออกที่สำคัญไปยังประเทศผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลก บวกกับมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และมีแรงงานที่ได้รับการพัฒนาทักษะมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันที่เป็นการผลิตเพื่อส่งออก “แวเรเบิลดีไวซ์” เทคโนโลยีใหม่ที่องค์กรไม่ควรมองข้าม อุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้รับความนิยมในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพราะเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งยังช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้กับผู้สวมใส่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการดูแลสุขภาพ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในการนับก้าวเดิน ควบคุมการบริโภคอาหาร นับจังหวะการเต้นของหัวใจ ฯลฯ หรือในด้านการทำงาน ซึ่งในปัจจุบัน มีสินค้าที่เป็นอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะวางขายในตลาดในหลากหลายประเภท เช่น แว่นตาอัจฉริยะ นาฬิกาอัจฉริยะ จอแสดงภาพแบบสวมศีรษะซึ่งช่วยให้ผู้ใช้งานรู้สึกเสมือนว่าได้เข้าไปอยู่ในโลกนั้นจริงๆ เป็นต้น PwC คาดว่า รายได้จากเซมิคอนดักเตอร์ที่นำไปใช้ในกระบวนการผลิตอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะจะสูงถึง 7 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.5 แสนล้านบาทในอีก 4 ปีข้างหน้าจาก 533 ล้านบาทในปี 2556 นางสาว วิไลพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ความท้าทายประการสำคัญที่ภาคธุรกิจต้องคำนึงถึงตั้งแต่วันนี้ คือ จะทำอย่างไรให้องค์กรสามารถรับเอาเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของตนได้ทันท่วงที เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และการลงทุนทางเทคโนโลยีเกิดความคุ้มค่า “นอกเหนือจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ผ่านการวางกลยุทธ์และโซลูชั่นส์ IoT ขององค์กรแล้ว ผู้ประกอบการต้องมีมาตรการป้องกันและรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลของลูกค้าที่จริงจังและเข้มงวดต่อ เพราะหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจ คือ การสร้างไว้วางใจ เสริมความมั่นใจ รวมทั้งสร้างประสบการณ์ที่ดีให้เกิดลูกค้าอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอนั่นเอง”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ