กรุงเทพฯ--21 ส.ค.--ปตท.
การนำผลผลิตกาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ที่มีมาตรฐาน GAP สู่คอกาแฟผ่านร้านคาเฟ่อเมซอน โดยส่งเสริมวิถีธรรมชาติ ด้วยการปลูกกาแฟควบคู่การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และสนับสนุนอาชีพเกษตรกรตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ประธานมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธาน ในงาน “ปลูกกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ” โครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยความร่วมมือของ มูลนิธิโครงการหลวง และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ณ บ้านป่ากล้วย ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ โดยมี คุณชวลิต พันธ์ทอง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมในงานนำร่องการปลูกกาแฟมาตรฐานตามหลักการผลิตทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (Good Agricultural Practice : GAP) ตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ปตท. เล็งเห็นถึงความตั้งใจและศักยภาพในการวิจัยและพัฒนากาแฟสายพันธุ์อาราบิก้า ของมูลนิธิโครงการหลวง จึงเป็นที่มาของความร่วมมือในการจัดทำ “โครงการวิจัยและพัฒนาการปลูกและผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” และ “โครงการซื้อขายเมล็ดกาแฟดิบจากเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ ผ่านมูลนิธิโครงการหลวง” เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในพื้นที่ตำบลบ้านหลวง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ดำเนินโครงการรักษ์ป่า สร้างคน 84 ตำบล วิถีพอเพียง ของ ปตท. ให้เกิดความเข้มแข็งบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาอย่างสมดุลตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของการพัฒนาอาชีพ การเสริมสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน อีกทั้งยังเน้นกระบวนการผลิตที่ปลอดภัย ด้วยวิธีการปลูกแบบผสมผสานกับพืชท้องถิ่นภายใต้ร่มเงาของไม้ยืนต้นธรรมชาติ ฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ เพื่อรักษาสมดุลของสิ่งแวดล้อม
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โครงการหลวงและ ปตท. ได้ร่วมกัน จัดทำข้อมูลพื้นฐานของพื้นที่ อาทิ ข้อมูลสภาพแวดล้อมก่อนการดำเนินงาน ข้อมูลเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 5 หมู่บ้าน ,จัดหาพื้นที่ดำเนินโครงการ 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ปลูกกาแฟดั้งเดิมที่ผ่านมาตรฐาน GAP ณ หมู่บ้านหนองหล่ม และ พื้นที่ปลูกกาแฟใหม่ จำนวน 120 ไร่ ณ หมู่บ้านขุนยะป่ากล่วย และหมู่บ้านใหม่ห้วยเฮี๊ยะ การจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ปลูกกาแฟใหม่ จำนวน 350 ไร่ โดย กรมพัฒนาที่ดินสนับสนุนการปลูกหญ้าแฝกกว่า 300,000 กล้า เพื่อป้องกันการพังทลายของหน้าดิน สร้างบ่อน้ำระบบอนุรักษ์จำนวน 7 บ่อ และการเตรียมกล้าไม้เพื่อปลูกในพื้นที่ใหม่ ประกอบด้วย กล้ากาแฟ จำนวน 65,000 กล้า และกล้าไม้ร่มเงาจำนวน 2,500 กล้า
นายชวลิต เปิดเผยว่า ด้วยความมุ่งมั่นของ ปตท. ในการดำเนินธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจรตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว ยังได้ก่อตั้ง ธุรกิจกาแฟในชื่อ “คาเฟ่อเมซอน (Café Amazon)” ตั้งแต่ พ.ศ.2545 เพื่อเติมเต็มความสมบูรณ์ให้ครบวงจรกับสถานีบริการน้ำมันของ ปตท. และได้มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วจนมีจำนวนสาขากว่า 1,300 สาขาทั่วประเทศ ทำให้ทางบริษัทต้องการเมล็ดกาแฟคุณภาพที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นจำนวนมาก จึงมองเห็นโอกาสที่จะสามารถสนับสนุนเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟในประเทศ ผ่านทางมูลนิธิโครงการหลวง ให้สามารถเพิ่มผลผลิต เพิ่มรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนให้ดีขึ้น
ปตท. เชื่อมั่นว่า ความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นแบบอย่างของการพัฒนาอย่างยั่งยืน สามารถสร้างประโยชน์ทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางที่ ปตท. ยึดถือเป็นเจตนารมณ์ในการดำเนินงานมาโดยตลอด และก่อให้เกิดชุมชนต้นแบบการผลิตกาแฟตามมาตรฐาน GAP เกิดความเข้มแข็งบนพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง และการพัฒนาอย่างสมดุลตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งในมิติของการพัฒนาทักษะอาชีพ การเสริมสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนในชุมชน การมีส่วนร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าต้นน้ำให้คงอยู่เกิดการต่อยอดและการเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนอื่น ๆ บนพื้นฐานของความยั่งยืนต่อไป
โทรศัพท์ 0 2537 1831 ฝ่ายสื่อสารองค์กร ปตท.
โทรสาร 0 2537 2171 21 สิงหาคม 2558