กรุงเทพฯ--24 ส.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ระบุ ปี58 ผลผลิตลำไยทั้งประเทศรวมกว่า 8 แสน 6 หมื่นตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 13 เนื่องจากอากาศปีนี้แปรปรวนลำไยออกดอกน้อย ดันราคาที่เกษตรกรขายได้สูงขึ้น เผย การลดค่าเงินหยวน ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว แจง ขณะนี้มีผลผลิตที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยว ร้อยละ 15 แนะ ผู้บริโภคห้ามพลาดโอกาสในการจัดหาลำไยมาบริโภคในปีนี้
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์และแนวโน้มการผลิต ลำไย ปี 2558 (ข้อมูล ณ 23 สิงหาคม 2558) พบว่า ภาพรวมทั้งประเทศเนื้อที่ยืนต้น ประมาณ 1,095,555 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 1,062,051 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ร้อยละ 1 ซึ่งสัดส่วนเนื้อที่ให้ผลส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ น่านและตาก มากถึงร้อยละ 78 หรือ 833,070 ไร่ โดยจังหวัดที่มีเนื้อที่ให้ผลมากที่สุด คือ จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 298,013 ไร่ หรือร้อยละ 36 รองลงมา คือ จังหวัดลำพูน 270,580 ไร่ หรือร้อยละ 32 และจังหวัดเชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง ตากและแพร่ ตามลำดับ ส่วนปริมาณผลผลิตลำไยรวมทั้งประเทศ 865,789 ตัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ลดลงประมาณ 129,319 ตัน หรือร้อยละ 13
จากการประชุมร่วมกันของคณะทำงานสำรวจข้อมูลไม้ผลเศรษฐกิจภาคเหนือ พบว่า 8 จังหวัดภาคเหนือ มีปริมาณผลผลิต 541,643 ตัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 ลดลงร้อยละ 20 โดยเป็นลำไยในฤดู 341,859 ตัน หรือร้อยละ 63 ของผลผลิตลำไย 8 จังหวัด และหากเปรียบเทียบลำไยในฤดูกับปี 2557 พบว่า ลดลงถึงร้อยละ 36 ด้านลำไยนอกฤดู 8 จังหวัดภาคเหนือ มีผลผลิต 199,784 ตัน หรือร้อยละ 37 เมื่อเทียบกับปี 2557 พบว่าปริมาณผลผลิตมากขึ้นถึงร้อยละ 40 ทั้งนี้ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของลำไยทั้งในฤดูและนอกฤดู ปี 2558 อยู่ที่ 650 กก./ไร่ ลดลงจากปี 2557 ร้อยละ 20 (ปี 2557 อยู่ที่ 817 กก./ไร่)
สำหรับสาเหตุที่ปริมาณผลผลิตลำไยปีนี้ลดลง เนื่องจากการลดลงของผลผลิตลำไยในฤดู เพราะอากาศแปรปรวน หนาวเย็นสลับร้อน ซึ่งส่วนใหญ่จะหนักไปทางร้อนมีฝนตกชุกช่วงต้นปี ทำให้ลำไยออกดอกน้อยกว่าปีที่แล้ว และมีช่อดอกที่สั้น ประกอบกับในช่วงใกล้เก็บเกี่ยวมีพายุฤดูร้อน ลูกเห็บ ซึ่งส่งผลกระทบต่อผลผลิตลำไย รวมทั้งภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการผลิตลำไยนอกฤดูในพื้นที่ที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยผลผลิตในฤดูจะเริ่มทยอยออกสู่ตลาดในช่วงเดือนมิถุนายนไปจนถึงเดือนกันยายน 2558 และจะออกมากในเดือนกรกฎาคม 2558 ร้อยละ 20 และเดือนสิงหาคม 2558 ร้อยละ 35
ด้านการเก็บเกี่ยวผลผลิต พบว่า ขณะนี้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดตาก และจังหวัดแพร่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จสิ้นแล้ว โดยผลผลิตออกสู่ตลาดมาตั้งแต่วันที่ 25 มิถุนายน ถึง 23 สิงหาคม 2558 ประมาณ 283,791 ตัน คิดเป็นร้อยละ 83 ซึ่งขนาดของผลผลิตในปีนี้พบว่า เกรด AA ประมาณร้อยละ 20 เกรด A ร้อยละ 50 เกรด B ร้อยละ 28 และ เกรด C ร้อยละ 2
ด้านราคาที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา (ลำไยในฤดู) ของ 8 จังหวัดภาคเหนือ ราคาลำไยสดช่อเกรด AA เดือนกรกฎาคม 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 34.04 บาท/กก. เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา พบว่าราคาสูงกว่าถึงร้อยละ 30 ส่วนราคาลำไยร่วง ณ ไร่นาที่เกษตรกรขายได้ปีนี้ ราคาเป็นที่น่าพอใจของเกษตรกรมากเมื่อเทียบกับราคาของปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคมจนถึงเดือนสิงหาคม โดยราคาเกรด AA อยู่ที่ประมาณ 34.00 บาท/กก. (เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนสิงหาคม 2557 ราคา 15.63 บาท/กก.) เนื่องจากปริมาณของเตาอบในพื้นที่ที่มีอยู่ประมาณ 2 หมื่นกว่าเตา ยังสามารถรองรับผลผลิตได้ไม่จำกัด กอปรกับคุณภาพของลำไยสดช่อตั้งแต่ช่วงที่มีฝนตกมาในพื้นที่คุณภาพเริ่มไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เนื่องจากผิวไม่สวย แต่ลำไยร่วงจะไม่เน้นคุณภาพ ความสวยงามของผล จะเน้นขนาดของผล อีกทั้งปริมาณของผลผลิตก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่มาก
สำหรับราคาลำไยอบแห้งทั้งเปลือก ราคาขายในเดือนสิงหาคม 2558 จะอยู่ที่ประมาณ เกรด AA= 82 บาท/กก. เกรด A= 52 บาท/กก. เกรด B = 32 บาท/กก. และ เกรด C =27 บาท/กก. ส่วนราคาลำไยอบแห้งเนื้อสีทองราคาจะอยู่ที่ประมาณ 150 - 350 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับความสวยของเนื้อลำไย
อย่างไรก็ตาม ปัญหาการผลิตลำไยในภาคเหนือ พบว่า ความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ในการทำลำไยนอกฤดูมีน้อย ประสบกับปัญหาในเรื่องระบบน้ำ ต้นทุนการจัดการที่สูง เกษตรกรจึงลดความเสี่ยงและการบริหารจัดการทำได้ยากเนื่องจากขนาดฟาร์มจะเป็นฟาร์มเล็ก ๆ (ขนาด 3 – 5 ไร่) ดังนั้น ควรพัฒนาศักยภาพการผลิต ปรับปรุงคุณภาพผลผลิตให้มีคุณภาพ โดยเน้นความปลอดภัยของผลผลิต (ผลิตลำไยอินทรีย์) ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น และกระจายผลผลิตออกตลอดทั้งปี โดยการเลือกช่วงการผลิต (ในฤดู/นอกฤดู) และสร้างกลุ่มเครือข่ายการผลิตและการตลาด ทั้งนี้ การลดค่าเงินหยวน ได้ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัว เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนมีผลกระทบต่อราคาที่ล้งได้จัดซื้อ อย่างไรก็ดี ผลผลิตลำไยที่ยังไม่ได้เก็บเกี่ยวขณะนี้มีประมาณร้อยละ 15 ดังนั้น ในช่วงนี้จึงยังมีโอกาสที่ผู้บริโภคจะสามารถจัดหาลำไยมาบริโภคได้อยู่ เลขาธิการ สศก. กล่าวทิ้งท้าย